



ปูชนียวัตถุสถาน
โบสถ์มหาอุตม์ เจดีย์พระจุฬามณี





รายละเอียด
พระจุฬามณี
ในครั้งพุทธกาล พระจุฬามณีเจดีย์ คือ พระเจดีย์ที่ประดิษฐานพระเกตุแก้วจุฬามณีของพระองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลังจากที่พระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว พระบรมสารีริกธาตุส่วนพระเกตุและพระโมลี (พระเกศา) พระอินทร์ได้นำขึ้นไปประดิษฐานไว้ที่พระจุฬามณี ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อเป็นที่เคารพสักการบูชาของเหล่าเทพเทวาและมนุษย์ทั้งหลายแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ส่วนพระจุฬามณีของวัดตาก้อง ได้สร้างขึ้นเมื่อประมาณปีพุทธศักราช ๒๔๖๘ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระพุทธรูปต่างๆ และพระพุทธบาทจำลอง ก่อสร้างมาแล้วประมาณ ๗๓ ปี เมื่อถึงงานปี วันเพ็ญกลางเดือน ๓ ทางวัดจัดให้มีงานเป็นประจำทุกปี จะมีบรรดาพุทธศาสนิกชนในท้องถิ่นและในละแวกใกล้เคียง ไปทำบุญบำเพ็ญกุศล ปิดทองไหว้พระกันเป็นจำนวนมากทุกปี
อุโบสถ์มหาอุตม์
อุโบสถหลังเก่าของวัดตาก้อง จะได้ทำการก่อสร้างตั้งแต่เมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดแต่สันนิษฐานว่าคงจะก่อสร้างมาแล้วประมาณ ๓๐๐ ปี เป็นอุโบสถที่มีประตูเข้าออกเฉพาะทางด้านหน้า ซึ่งเรียกกันว่า “โบสถ์มหาอุด” เป็นโบสถ์ที่ใช้อิฐขนาดใหญ่ กว้าง ๗ นิ้ว ยาว ๑๔ นิ้ว ก่อเป็นกำแพงโดยไม่มีเสาเลยแม้แต่ตันเดียว โบสถ์หลังนี้ได้ชำรุดทรุดโทรมลงไปตามกาลเวลาประกอบกับคับแคบไม่เพียงพอต่อจำนวนพระภิกษุสงฆ์ที่จะลงไปประกอบสังฆกรรม ต่อมาทางวัดจึงได้จัดสร้างอุโบสถหลังใหม่ โดยให้ทำการวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๗ ก่อสร้างแล้วเสร็จ ใช้ประกอบสังฆกรรมหลังวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๓๒ เป็นตันมา นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา อุโบสถหลังเก่าก็มิได้ใช้ประกอบสังฆกรรมอีกต่อไป
ต่อมาเมื่อประมาณปลายเดือน มีนาคม ๒๕๓๙ ได้มีคนร้ายลักลอบเข้าไปขุดฐานพระประธานปรากฏว่าพบวัตถุมงคลหลายชนิด และมีจำนวนมาก เข้าใจว่าเป็นวัตถุมงคลที่ หลวงพ่อแช่ม พรหฺมสโร สร้างและนำไปบรรจุไว้ วัตถุมงคลที่พบเหลือจากคนร้ายลักลอบเข้าไปขุด มีดังนี้
๑. รูปหล่อหลวงพ่อแช่ม ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก เนื้อทองผสม
๒. พระปิดตา ขนาดใหญ่ เนื้อทองผสม
๓. เหรียญกลมรูปหลวงพ่อแช่ม เนื้อทองผสม
๔. เหรียญสี่เหลี่ยมรูปนางกวัก เนื้อทองผสม
๕. พระสมเด็จ เนื้อดินเผา
๖. พระสี่เหลี่ยมรูปหลวงพ่อแช่ม เนื้อดินเผา
๗. พระกลมรูปหลวงพ่อแช่ม เนื้อดินเผา
ทางได้นำวัตถุมงคลที่เหลือจากคนร้ายลักไป นำออกให้ประชาชนเช่าไว้บูชา ได้เงินมาจำนวนหนึ่ง ทางวัดได้นำไปชำระหนี้ค่าเตาเผาศพ และนำมาบูรณะอุโบสถหลังเก่า พื้นปูด้วยหินแกรนิต สิ้นค่าบูรณะไปเป็นจำนวนเงิน ๖,๕๐๐,๐๐๐ บาท (หกล้านห้าแสนบาทถ้วน) ซึ่งการบูรณะได้สำเร็จเรียบร้อยแล้ว
ปูชนียวัตถุที่สำคัญของวัด
โดย : วัดตาก้อง
ที่อยู่ : ต.ตาก้อง อ.เมืองนครปฐม จ.นครปฐม
จำนวนเข้าดู : 1967
ปรับปรุงล่าสุด : 12 ตุลาคม พ.ศ. 2564 10:20:48
ข้อมูลเมื่อ : 12 ตุลาคม พ.ศ. 2564 10:20:48
ปูชนียวัตถุสถาน 10 อันดับ
พื้นปูนใต้ถุนศาลาการเปรียญ กว่า 1233 ตารางเมตร โดยประมาณ
โดย : วัดสารภี
ข้อมูลเมื่อ : 20-04-2568
เปิดดู : 26