สาระธรรม
ธรรมเทศนาในวันวิสาขบูชา
รายละเอียด
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
เย ธัมมา เหตุ ปัพพะวา เตสัง เหตุง ตถาคะโต
เตสัญจะ โย นิโรโธ จะ เอวัง วาที มหาสมโณ ติ
ณ บัดนี้อาตมภาพรับหน้าที่วิสัชนาในธรรมกถา เนื่องด้วยวันวิสาขบูชา เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา เสริมสร้างบุญบารมี และกุศลบุญญราศีแก่บรรดาพุทธบริษัททั้งหลาย ที่พร้อมใจกันมาบำเพ็ญกุศล ณ วัดท่าขนุนแห่งนี้
ญาติโยมทั้งหลาย วันวิสาขบูชานั้น เป็นวันที่เป็นปรากฏการณ์อัศจรรย์อย่างหนึ่ง ซึ่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานั้น
ประสูติ คือ เกิดในวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี
ตรัสรู้ เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือถ้าหากเป็นชาวบ้านทั่วไปคือจบการศึกษา ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี
ปรินิพพาน ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๑ ปี
แต่ว่ามีหลายประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท อย่างเช่น ศรีลังกาก็ดี พม่าก็ดี จะนับพุทธศักราชในวันองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานว่าเป็น พ.ศ. ที่ ๑ แต่ว่าประเทศไทยของเรานั้น ไปนับเอาวันที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานครบรอบ ๑ ปีเป็น พ.ศ. ที่ ๑
ดังนั้น..หลายต่อหลายแห่งที่เขามีการจัดฉลองวิสาขบูชาอย่างเช่นว่าตอนนี้ก็เป็น ๒,๕๖๓ ปี เพราะว่าเขานับก่อนเรา ๑ ปี
การที่องค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานั้น เกิดวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖ ตรัสรู้วันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖ และปรินิพพานในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ถือเป็นเหตุอัศจรรย์อย่างหนึ่ง ชาวพุทธของเราจึงนับเอาวันวิสาขบูชานี้ เป็นวันสำคัญวันหนึ่งในพระพุทธศาสนา ก็จะมีกิจกรรมต่าง ๆ อันเป็นการรำลึกถึงความดีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อย่างเช่นว่า มีการทำบุญใส่บาตร ฟังเทศน์ฟังธรรม มีการเวียนเทียนเป็นต้น
อย่างวัดท่าขนุนของเรา นอกจากทำบุญใส่บาตร ฟังเทศน์ฟังธรรม มีการเวียนเทียนแล้ว ยังมีการมอบทุนการศึกษา ทั้งทุนในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา ปีละมาก ๆ ในขณะเดียวกัน ก็มีการอุปสมบทหมู่เพื่อปฏิบัติธรรมในช่วงวิสาขบูชาอีก ซึ่งในวันนี้เวลาประมาณเที่ยงครึ่ง ก็จะเริ่มการอุปสมบทหมู่ ซึ่งมีนาคอยู่ทั้งหมด ๘ ท่านด้วยกัน
แล้วหลังจากนั้น เรายังมีการวางผางประทีป ซึ่งก่อนหน้านี้กล่าวไว้ว่าวางผางประทีป ๑๐,๐๐๐ ดวง แต่ปัจจุบันนี้พัฒนาเพิ่มเติมขี้นไปเรื่อย ๆ จนเกือบจะ ๒๐,๐๐๐ ดวงแล้ว มีการแปรรูปอักษรและภาพต่าง ๆ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชาเพิ่มเติมขึ้นมา
ดังนั้น..ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลายหากมาร่วมกิจกรรมวันวิสาขบูชาในวัดท่าขนุนแห่งนี้ ก็จะมีบุญพิเศษนอกเหนือไปจากค่านิยมทั่ว ๆ ไปหลายอย่าง หลายประการด้วยกัน
ที่สำคัญที่สุดก็คือว่า วันวิสาขบูชานั้น เรามารำลึกถึงความดีขององค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งการรำลึกถึงคุณความดีนั้น จะว่าไปแล้วเป็นความดีเฉพาะของเฉพาะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังที่บาลีกล่าวว่า อะระหัง สัมมาสัมพุทโธฯ เป็นต้น
ซึ่งความดีเหล่านี้
“อะระหัง” คือ เป็นผู้ไกลจากกิเลส
“สัมมาสัมพุทโธ” เป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ
“วิชชาจรณะสัมปันโน” เป็นผู้ทรงความรู้และความประพฤติที่ดีโดยพร้อมสมบูรณ์
“สุคะโต” เป็นผู้เสด็จไปดีแล้ว คือไปสู่พระนิพพาน
“โลกะวิทู” เป็นผู้รู้แจ้งในโลกต่าง ๆ ทั้งโอกาสโลก โลกคือดวงดาวต่าง ๆ ทั้งสังขารโลก โลกคือร่างกายนี้ ทั้งสัตวโลก โลกคือหมู่สัตว์ทั้งหลาย
“อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ” พระองค์ท่านเป็นสารถี คือผู้ฝึกสอน ที่ไม่มีใครเหนือไปกว่า ก็แปลว่าไม่ว่าพระองค์ท่านจะสั่งสอนผู้ใดก็ตาม ถ้าตั้งใจศึกษาเล่าเรียนจริง ๆ ผู้นั้นจะประสบความสำเร็จทั้งสิ้น
“สัตถา เทวะมนุสสานัง” พระองค์เป็นครูของทั้งมนุษย์และเทวดา
“พุทโธ” เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ก็คือรู้ทั่วถึงธรรมแล้ว
ที่ว่ากล่าวมาตั้งแต่เบื้องต้นจนถึงตรงนี้ เป็นคุณสมบัติเฉพาะของพระพุทธเจ้าล้วน ๆ
“ภะคะวา” เป็นผู้จำแนกแจกธรรม นี่เป็นคุณสมบัติที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มาถึงพวกเราทั้งหลาย คราวนี้ในเมื่อพระองค์ท่านจำแนกแจกธรรม คือนำเอาหลักธรรมมาสั่งสอนพวกเราแล้ว เราได้ปฏิบัติตามเท่าไร ?
ดังนั้น..ในเรื่องของวันวิสาขบูชา จึงไม่ใช่แค่ว่าเรามารำลึกถึงคุณความดีขององค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น แต่เราต้องมาระลึกว่า สิ่งที่พระองค์ท่านสั่งสอนเรามานั้น เราทำอะไรได้บ้าง ?
ในพระพุทธศาสนาของเรา คำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประมวลลงได้ ๓ หมวดด้วยกัน ก็คือ
อธิศีลสิกขา ให้รักษาศีล
อธิจิตสิกขา ก็คือให้ชำระจิตของตนให้ผ่องใสปราศจากกิเลส
อธิปัญญาสิกขา ให้มีปัญญารู้เท่าทันความเป็นจริงทุกอย่างในโลก ยอมรับและปล่อยวาง
สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ถ้าหากว่าเรามาพินิจพิจารณาดูก็จะเห็นว่า ในส่วนของศีลสิกขาเราได้ทำแล้ว ก็คือแม้แต่เมื่อครู่นี้เราก็ได้สมาทานศีลแล้ว โดยเฉพาะเป็นอุโบสถศีลด้วย อธิจิตสิกขา เรากำลังทำอยู่ ก็คือกำลังตั้งใจฟังในสิ่งที่พระสงฆ์แสดงธรรมอยู่เฉพาะหน้า การที่เราตั้งใจฟังธรรมเฉพาะหน้า สภาพจิตของเราจะพ้นจาก รัก โลภ โกรธ หลง ชั่วคราว ถ้าหากว่าสามารถรักษาอารมณ์ได้ยาวนานเท่าไร สภาพจิตเราก็จะผ่องใสจากกิเลสได้เท่านั้น แต่ยังไม่สามารถชำระกิเลสให้หมดสิ้นไปได้
ดังนั้น..ท่านทั้งหลายยังต้องใช้ปัญญาสิกขา ก็คือใช้ปัญญาพินิจพิจารณาดู องค์สมเด็จพระบรมครูของเราตรัสสอนไว้ว่า ร่างกายนี้ไม่เที่ยง เกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงแปรปรวนไปในท่ามกลาง สลายไปในที่สุด เราเห็นตามอย่างแท้จริงหรือไม่ว่าร่างกายนี้ไม่เที่ยง
พระองค์ท่านตรัสว่าร่างกายนี้เป็นทุกข์ เกิดก็เป็นทุกข์ แก่ก็เป็นทุกข์ เจ็บก็เป็นทุกข์ ตายก็เป็นทุกข์ พลัดพรากจากของรักของชอบใจก็เป็นทุกข์ ปรารถนาไม่สมหวังก็เป็นทุกข์ กระทบกระทั่งอารมณ์ที่ไม่ชอบใจก็เป็นทุกข์
สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เราเห็นตามหรือไม่ว่าเป็นความทุกข์อย่างแท้จริง ถ้าหากว่าเห็นตามก็ไม่ใช่ว่าแบกทุกข์นี้เอาไว้ แต่ว่าเห็นแล้วยอมรับว่าสภาพร่างกายของเรามีความเป็นปกติธรรมดาเช่นนี้ เจ้าอยากจะทุกข์ก็ทุกข์ไปเถิด เราสามารถจะผ่อนเบาบรรเทาให้เจ้าได้เท่าไร เราก็จะทำ แต่ถ้าหากว่าทำไปแล้วไม่สามารถที่จะแก้ไขได้ก็แล้วแต่เจ้า อยู่ได้ก็อยู่ อยู่ไม่ได้ก็พังไป เราไม่ได้ต้องการร่างกายนี้อีก เราไม่ต้องการเกิดมาในโลกที่เต็มไปด้วยความทุกข์เช่นนี้อีก ถ้าสภาพจิตของเรายอมรับและปล่อยวาง ตัดละจากร่างกายนี้ได้ ก็เรียกว่าท่านสามารถเข้าถึงธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อย่างแท้จริง
ดังนั้น..ในวันนี้ที่ท่านทั้งหลายพร้อมใจกันมาบำเพ็ญกุศลในวัดท่าขนุนแห่งนี้ หลายท่านก็นำเอาข้าวปลาอาหารเครื่องสังฆทานมาถวาย หลายท่านก็ตั้งใจมาสมาทานศีลมาฟังธรรม ก็แปลว่า ในส่วนของทานเราได้กระทำแล้ว ในส่วนของศีลเราได้กระทำแล้ว ในส่วนสมาธิภาวนาเราได้กระทำแล้ว
ก็เหลือแต่ในส่วนของปัญญาสิกขาที่ว่า เราฟังแล้วจะคัดเลือกเก็บเอาหลักธรรมส่วนไหนที่เหมาะสมกับตัวเราไปใช้งาน เพราะว่าหลักธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นพระองค์ตรัสไว้หลายระดับ มีทั้งงามในเบื้องต้น คือเรื่องของศีล งามในท่ามกลาง คือเรื่องของสมาธิ งามในที่สุด คือเรื่องของปัญญา
เราสั่งสมบุญกุศลเดิมมาเท่าไร ตอนนี้เหมาะสมกับคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าระดับไหน ตัวเราจะเป็นผู้รู้ที่สุด ในเมื่อเป็นในลักษณะนี้แล้ว ท่านทั้งหลายก็จะได้เก็บเอาไปเพื่อใช้ให้เหมาะสมแก่ตน
ผู้ใดมีความสามารถในการให้ทาน เราก็ให้ทาน ทำบุญใส่บาตรเป็นปกติ ผู้ใดรักษาศีล ๕ ได้ เราก็รักษาศีล ๕ ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ เพราะศีล ๕ เป็นศีลที่แสดงออกซึ่งความเป็นมนุษย์ บางทีเรียกว่ามนุสสธรรม คือธรรมที่ทำให้ตัวเราเกิดเป็นมนุษย์ได้
ในส่วนของศีล ๘ ถ้าท่านสามารถรักษาได้ ก็จะช่วยให้การประพฤติปฏิบัติธรรมของท่านทั้งหลาย มีความเจริญก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้นไป ส่วนพระภิกษุสามเณรของเรานั้น มีศีลเฉพาะตนอยู่แล้ว สามเณรรักษาศีล ๑๐ ข้อพร้อมเสขิยวัตร พระภิกษุรักษาศีล ๒๒๗ ข้อ ซึ่งมีเสขิยวัตรอยู่ในนั้นอยู่แล้ว ในส่วนทั้งหลายเหล่านี้ เราก็ลองพินิจพิจารณาดูว่า เราจะกระทำได้เท่าไร
ส่วนในเรื่องของปัญญานั้นแค่เราไม่คิดมาก ก็ทำให้เรามีความสุขแล้ว ทุกวันนี้ส่วนใหญ่เราทุกข์เพราะความคิดของตัวเอง อยากได้นั่นอยากได้นี่ อยากเป็นนั่นอยากเป็นนี่ อยากไปเรื่อยไม่มีที่สิ้นสุด เราก็ต้องตะเกียกตะกายมาสนองความอยากของตนเอง ความอยากนี่แหละ ที่เป็นสาเหตุของความทุกข์ทั้งปวง ดังที่ได้กล่าวไปบาลีในเบื้องต้นว่า
“เย ธัมมา เหตุ ปัพพะวา” ธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุ เหตุที่ทำให้เราทุกข์ก็คือความอยาก หรือตัณหา คราวนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ตรัสถึงความดับนั้นด้วย ก็คือในเมื่อเหตุของความทุกข์เกิดขึ้น
“เตสัง เหตุง ตถาคะโต เตสัญจะ โย นิโรโธ จะ” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากล่าวถึงความดับนั้นด้วย ก็คือถ้าหากว่าเราสามารถที่จะปล่อยวางได้ ดังที่พระอัญญาโกณฑัญญะสรุปว่า “ยังกิญจิ สะมุทะยะธัมมัง สัพพันตัง นิโรธะธัมมังฯ” สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเกิดแต่เหตุ ถ้าเหตุดับ สิ่งนั้นย่อมดับลงไปด้วย ก็แปลว่า ถ้าเราเลิกอยาก ความทุกข์ก็หายไป
ในเมื่อท่านทั้งหลายเข้าใจแล้วว่า ทานทำอย่างไร ศีลทำอย่างไร สมาธิภาวนาทำอย่างไร ก็เหลือแค่ปัญญา ซึ่งท่านทั้งหลายใช้แค่ง่าย ๆ ว่า เห็นว่าธรรมดาของทุกอย่างเป็นเช่นนี้ นั่งนานไปก็เมื่อย ธรรมดาของการนั่งนาน ๆ ก็เป็นเช่นนี้ ลูกหลานไม่ได้อย่างใจ เกิดความทุกข์ความกลุ้มใจ ก็ธรรมดา เรื่องของคนอื่นจะให้ได้ดังใจเราย่อมเป็นไปไม่ได้ ถ้าท่านทั้งหลายเห็นคำว่าธรรมดา สามารถอาศัยไปได้ตลอดทั้งชาตินี้ และถ้าเกิดใหม่ชาติหน้าก็ยังอาศัยได้อีกด้วย
ดังนั้น..ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้ถึงหลักธรรม สั่งสอนเรามาตั้งแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้เมื่อ ๔๕ ปีก่อนพุทธศักราชมาจนถึงปัจจุบันนี้ ก็เป็นระยะเวลา ๒,๖๐๐ ปีเศษแล้ว แต่ถ้าหากว่านับจากวันปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็จะได้ ๒,๕๖๒ ปี
ซึ่งองค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานั้น พระองค์ท่านตรัสแสดงหลักธรรมเอาไว้พร้อมสมบูรณ์บริบูรณ์ อยู่ที่เราเองว่าจะน้อมนำมาปฏิบัติสักเท่าใด ซึ่งหลักธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พร้อมสมบูรณ์บริบูรณ์นี้ เราสามารถที่จะน้อมนำมาปฏิบัติได้ทุกเวลา ไม่ว่าจะประกอบหน้าที่การงานใด ๆ ก็ตาม เราก็สามารถทำได้ บางคนบอกว่าที่บ้านทำไร่ทำนา จำเป็นต้องฉีดยาฆ่าแมลง อาตมาอยากจะถามว่า ตอนนอนได้ฉีดยาไหม ?
ตอนไหนที่เราว่าง เราก็รักษาศีลของเราไป ตอนไหนที่ทำกิจการงานก็ทำตามหน้าที่ของเราไป บางท่านก็บอกค้าขายต้องโกหกเขาถึงจะเจริญ อาตมาว่าไม่จริง ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายพูดตามความเป็นจริง ไม่โฆษณาอวดอ้างสินค้าของตนจนเกินเหตุ และไม่ขายในราคาแพงมาก อาตมาว่าไม่ต้องโกหกก็เจริญ
แต่ถ้าท่านหนักใจว่า เวลาทำมาหากินต้องโกหก ก็ตั้งแต่เลิกทำมาหากิน กลับเข้าเคหะสถานบ้านช่องของเรา จนกว่าจะออกไปวันใหม่ ก็ให้เรารักษาศีลของเราไว้ แปลว่า ๒๔ ชั่วโมงอย่าให้ศีลขาดตลอดเวลา ให้มีเวลาที่ศีลสมบูรณ์บริบูรณ์บ้าง จะได้ไม่ขาดทุนมากนัก ดังนั้น..จึงได้กล่าวว่า ท่านทั้งหลายจำเป็นที่จะต้องพินิจพิจารณาว่า เราจะใช้หลักธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าส่วนไหน จึงจะเหมาะจะควรแก่เรา
อาตมภาพรับหน้าที่วิสัชชนามาในธรรรมกถาตั้งแต่ต้นจนบัดนี้ ก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา ท้ายสุดแห่งพระธรรมเทศนา อาตมภาพขอตั้งสัตยาธิษฐาน อ้างคุณพระศรีรัตนตรัย มีพระพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ และสังฆรัตนะเป็นประธาน มีบารมีของหลวงปู่สาย อคฺควํโส อดีตเจ้าอาวาสวัดท่าขนุนนี้เป็นที่สุด ขอได้โปรดดลบันดาลให้ญาติโยมทั้งหลาย ประสพแต่ความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคล สมบูรณ์พูนผลไปด้วยจตุรพิธพรชัยทั้งสี่ประการ มี อายุ วรรณะ สุขะ พละ และปฏิภาณ ตลอดถึงธรรมสารสมบัติอันเป็นที่พึงใจทั้งปวง
รับหน้าที่วิสัชนามาก็พอสมควรแก่เวลา จึงขอสมมุติยุติพระธรรมเทศนาลงคงไว้แต่เพียงเท่านี้ เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้
...................................
พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. วัดท่าขนุน
www.watthakhanun.com
ผู้แต่ง
พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
ไฟล์แนบเพิ่มเติม
โดย : วัดท่าขนุน
ที่อยู่ : ต.ท่าขนุน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี
จำนวนเข้าดู : 109
ปรับปรุงล่าสุด : 3 มิถุนายน พ.ศ. 2566 14:49:08
ข้อมูลเมื่อ : 3 มิถุนายน พ.ศ. 2566 14:49:08
สาระธรรม 10 อันดับ
ถ้าหากเราปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ อยู่ไม่อดหรอก ธรรมะย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม
ข้อมูลเมื่อ : 03-09-2567
เปิดดู : 45