ปูชนียวัตถุสถาน
พระพุทธรูปปางป่าลิไลยก์(Pārileyyaka) พระประธานอุโบสถ
รายละเอียด
“พระพุทธรูปปางป่าลิไลยก์” (Pārileyyaka) แบบ “พระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาทบนบัลลังก์ (ปรลัมพปาทาสนะ Pralambapadasana) ร่วมกับรูปช้างถวายผลไม้และลิงถวายรวงผึ้ง” เป็นพุทธศิลป์ที่เริ่มต้นครั้งแรกจากในรัฐรามัญยะ (Rāmaṇya) /มอญ/ทวารวดี จากวรรณกรรมฝ่ายรามัญนิกาย ในคติ “อารัญวาสี-อรัญวาสี” (Āraṇya-vāsī) แต่รูปศิลปะการนั่งห้อยพระบาทบนบัลลังก์ภัทรบิฐนั้น ไปเริ่มต้นครั้งแรกในงานพุทธศิลป์แบบพุกาม ที่นิยมท่านั่งแบบห้อยพระบาทตามอิทธิพลพุทธศิลป์ปางปฐมเทศนาของฝ่ายมหายานที่นิยมในยุคราชวงศ์ปาละ
*** พระพุทธรูปปางป่าลิไลยก์ห้อยพระบาทแบบรามัญตะวันตก/พุกาม ไม่ได้รับความนิยมในรัฐสุโขทัย ล้านนา/โยนก ละโว้ หริภุญชัย ล้านช้าง/ลาว/อีสาน แต่เริ่มปรากฏขึ้นครั้งแรกในรัฐสุพรรณภูมิ/รามัญตะวันออกในช่วงประมาณช่วงพุทธศตวรรษที่ 20
สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 23 พระพุทธรูปปางป่าลิไลยก์กลับมาได้รับความนิยมตามคติ “ช้างป่าเลไลยก์/พระอนาคตพุทธเจ้า (สุมงคลพุทธเจ้า)” ได้มีการจัดรูปแบบการวางพระหัตถ์ขึ้นใหม่ โดยวางพระกรขวา/ซ้ายแนบไปบนพระเพลา หงายพระหัตถ์ขวา/ซ้ายด้านหนึ่งแบออกเหนือพระชานุ (มีทั้งซ้ายและขวา) ในความหมายของการรับการถวายสิ่งของจากช้างและลิง โดยวางรูปประติมากรรมช้างชูงวงถวายกระบอกไม้ไผ่ใส่น้ำและรูปลิงถวายรวงผึ้งไว้ทางด้านหน้าเยื้องออกไปด้านข้างทั้งสองฝั่ง.
*** คติและงานพุทธศิลป์ปางป่าลิไลยก์ไม่ได้รับความนิยมจากราชสำนักในช่วงอยุธยาตอนปลาย จนถึงช่วงต้นรัตนโกสินทร์จึงได้เริ่มมีการรื้อฟื้นขึ้นใหม่
-----------------------
*** พระพุทธรูปปางลิไลยก์ปูนปั้น ประธานภายในอุโบสถวัดประตูสาร (ก่อนถูกย้ายตำแหน่งมาตั้งใหม่ในปี พ.ศ. 2524 – 2525) ตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นงานพุทธศิลป์ใน “พระราชนิยม” ของรัชกาลที่ 3 เป็นงานศิลปะผสมผสานระหว่างศิลปะไทยรัตนโกสินทร์ ศิลปะจีนกับศิลปะลาวที่หาพบได้ยากในประเทศไทย จากด้วยเพราะในช่วงเวลานั้นได้มีการกวาดต้อน/อพยพผู้คนในอาณาจักรเวียงจันทน์และอีสานเหนือ (ศึกเจ้าอนุวงศ์ในปี พ.ศ. 2339) กลับมาไว้เป็นแรงงานรอบเมืองพระนครและโดยเฉพาะในภาคกลาง ซึ่งชาวลาวอีสานที่ถูกกวาดต้อนมาหลายท่านมีฝีมือระดับครูช่าง จึงได้รับโอกาสแยกให้มาทำงานเป็นช่างหลวงในการบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอาราม.
*** รัชกาลที่ 3 ทรงมีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้นำรายได้จากท้องพระคลังที่ได้มาจากการค้าสำเภา มาสร้างวัดและพระพุทธรูปขึ้นมากมาย ทั้งยังทรงโปรดให้บูรณปฏิสังขรณ์ ทำนุบำรุงรักษาพระอารามเก่าทั่วอาณาจักรที่ชำรุดเสียหาย รวมถึงวัดเก่าที่สร้างค้างอยู่จากรัชกาลก่อน ๆ ให้สมบูรณ์ ซึ่งในเขตจังหวัดเพชรบุรี ก็ปรากฏวัดที่สร้างขึ้นใหม่หลายแห่ง รวมทั้งวัดเก่าจากยุคกรุงศรีอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์ที่มีการบูรณปฏิสังขรณ์ รวมทั้งโปรดให้มีการวาดจิตรกรรมฝาผนังตามขนบแบบแผนในพระราชนิยม คือ ภาพพุทธประวัติ ภาพปัจเจกพุทธเจ้า ทศชาติชาดก รวมทั้งภาพของอดีตพระพุทธเจ้า.
พระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์วัดประตูสาร ควรถูกปั้นขึ้นโดยช่างลาวหลวงในคณะ “พระยาราชสุภาวดี/เจ้าพระยานิกรบดินทร์” (โต กัลยาณมิตร,เจ้าสัวโต แซ่อึ้ง) แม่กองในการบูรณปฏิสังขรณ์วิหารพระป่าลิไลยก์ตั้งแต่ในครั้งแรก จึงได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถเดิมของวัดประตูสารขึ้นใหม่ และเริ่มวาดจิตรกรรมตามแบบพระราชนิยม (ไทย/จีน/ลาว) โดยมีแม่แบบมาจากพระประธานภายในพระอุโบสถวัดกัลยาณมิตร ที่สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2386 (ปลายสมัยรัชกาลที่ 3) ประดิษฐานพระพุทธรูปปางป่าลิไลยก์เป็นพระพุทธรูปประธาน มีรูปจิตรกรรมฝาผนังเป็นพุทธประวัติตอนโปรดพุทธมารดาและเสด็จลงจากดาวดึงส์ตรงกลางผนังสกัดด้านหลัง.
ช่างหลวงเมืองพระนครชาวลาวอีสานที่เดินทางมาในคณะ (อาจเป็นครัวลาวสังกัดไพร่เมืองสุพรรณมาแต่เดิม) ที่มีฝีมือเคยทำงานในระดับช่างหลวง จึงได้เริ่มต้นปั้นพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ตามแบบพระราชนิยม โดยยังคงรักษารายละเอียดงานของงานศิลป์อันเป็นเอกลักษณ์เด่นแบบลาวอีสานไว้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ เป็นพระพุทธรูปแบบห้อยพระบาททั้งสองข้างบนบัลลังก์ พระหัตถ์ซ้ายคว่ำเหนือพระชานุขวา พระหัตถ์ขวาหงายเหนือพระชานุซ้าย พระดัชนีเรียวยาวแบบ พระพักตร์กลม พระขนงเป็นวงโค้ง พระเนตรเหลือบมองต่ำ (ตานกนอน) พระนาสิกเป็นสันชมพู่ พระโอษฐ์หนาสั้น พระกรรณโค้งกลมยอดปลายแหลมบายศรี ติ่งพระกรรณโค้งงอนออก มวยพระเกศาเล็กแบบหนามขนุน มีเส้นไรพระศก กระหม่อมอุษณีษะ (พระเกตุมาลา) ใหญ่ พระเมาฬีใหญ่ มีเชิงเป็นบัวกลุ่ม ส่วนยอดพระเจ้าเป็นบัวทรงปลียอดชะลูดปลายแหลม สามารถถอดออกได้ โดยภายในไว้บรรจุพระธาตุหรือสิ่งของมงคลตามคติพระพุทธรูปลาวอีสาน.
ส่วนบัลลังก์ได้แสดงงานศิลปะแบบรัตนโกสินทร์ผสมงานศิลปะจีน ฐานล่างเป็นขาสิงห์คุ่มแบบขาตั่ง แข้งโค้งออกเป็นกลีบกระจัง ท้องสิงห์แอ่นโค้ง นมสิงห์เป็นกลีบดอกไม้แตกเครือเถา หลังสิงห์เป็นลายจีน (ไรขน) แบบบัวรวนคว่ำ ขอบท้องไม้ประดับกระจังตาอ้อยใหญ่สลับเล็ก วางเรียงห่างกัน หน้ากระดานเป็น “ลายปะแจจีน” ท้องไม้ประดับกระจัง และกระหนกกลีบบัวหงายประดับกระจกคั่นลายรักร้อย ขนาดเล็กใหญ่ไล่ไปตามการลาดของอาสนะ.
พระพุทธรูปปางป่าลิไลยก์ พระประธานแห่งวัดประตูสาร จึงเป็นงานศิลปะพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่แสดงความงดงามอันโดดเด่นในงานศิลปะลาวอีสาน ผสมผสานงานศิลปะจีนอันเป็นเอกลักษณ์ ด้วยฝีมือระดับช่างหลวงเมืองพระนคร
โดย : วัดประตูสาร
ที่อยู่ : ต.ท่าพี่เลี้ยง อ.เมืองสุพรรณบุรี จ.สุพรรณบุรี
จำนวนเข้าดู : 555
ปรับปรุงล่าสุด : 23 มกราคม พ.ศ. 2565 15:54:22
ข้อมูลเมื่อ : 28 กันยายน พ.ศ. 2564 20:10:46