เข้าสู่ระบบสมาชิก
สถิติสารสนเทศ
วัด
พระอารามหลวง ชั้นเอก ราชวรมหาวิหาร
1 วัด
พระอารามหลวง ชั้นเอก ราชวรวิหาร
0 วัด
พระอารามหลวง ชั้นเอก วรมหาวิหาร
0 วัด
พระอารามหลวง ชั้นโท ราชวรมหาวิหาร
0 วัด
พระอารามหลวง ชั้นโท ราชวรวิหาร
0 วัด
พระอารามหลวง ชั้นโท วรมหาวิหาร
0 วัด
พระอารามหลวง ชั้นโท วรวิหาร
0 วัด
พระอารามหลวง ชั้นตรี ราชวรวิหาร
0 วัด
พระอารามหลวง ชั้นตรี วรวิหาร
2 วัด
พระอารามหลวง ชั้นตรี สามัญ
9 วัด
วัดราษฎร์
1454 วัด
สำนักสงฆ์
83 วัด
ที่พักสงฆ์
72 วัด
วัดร้าง
2 วัด
วัดทั้งหมด
1623 วัด
ศาสนบุคคลไทย
พระภิกษุ
8343 รูป
สามเณร
291 รูป
แม่ชี
87 รูป
ศิษย์วัด
38 คน
บุคคลทั่วไปชาย
41 คน
บุคคลทั่วไปหญิง
53 คน
ทั้งหมด
8853 รูป/คน
ศาสนบุคคลต่างชาติ
พระภิกษุ
46 รูป
สามเณร
25 รูป
แม่ชี
1 รูป
ศิษย์วัด
3 คน
บุคคลทั่วไปชาย
0 คน
บุคคลทั่วไปหญิง
0 คน
ทั้งหมด
75 รูป/คน
สถิติสถานภาพพระภิกษุปัจจุบัน
พระบวชใหม่
7185 รูป
ลาสิกขา
42 รูป
มรณภาพ
10 รูป
ปูชนียวัตถุสถาน
วิหาร โปรดพระองคุลิมาล
รายละเอียด
พระองคุลิมาลเป็นพระเถระที่มีความสำคัญองค์หนึ่งในจำนวนพระอสีติมหาสาวก เป็นพระเถระที่พุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่รู้จักกันดี เนื่องจากก่อนที่ท่านจะเข้ามาบวชเป็นพระภิกษุ
ในพระพุทธศาสนาได้ฆ่าผู้คนเป็นจำนวนมากมาย แต่ต่อมาเมื่อได้พบพระพุทธองค์และเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาก็สามารถบำเพ็ญเพียรจนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ หลวงพ่อขอมสร้างงาน
ประติมากรรมชิ้นนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นการสอนคนให้รู้ว่า คนเราถึงแม้จะชั่วช้าสักปานใด แต่ภายหลังหากรู้จักกลับตัวกลับใจได้ ก็สามารถเป็นคนดีได้ ดังสำนวนที่ว่า “ต้นคดปลายตรง”
เรื่องราวของพระองคุลิมาลนั้นมีปรากฏในประวัติอสีติมหาสาวกว่า
พระองคุลิมาลได้ถือปฏิสนธิในครรภ์แห่งนางพราหมณ์ชื่อ มันตานี ภรรยาของคัคคพราหมณ์ (ภัคควพราหมณ์) ซึ่งเป็นปุโรหิตแห่งเมืองสาวัตถี ในเวลาที่องคุลิมาลคลอด
ออกจากครรภ์มารดานั้น บรรดาอาวุธทั้งหลายในนครทั้งสิ้นช่วงโชติขึ้น แม้กระทั่งฝักดาลที่อยู่ในห้องพระบรรทมก็ส่งแสงเรืองขึ้น พราหมณ์ปุโรหิตจึงลุกออกมาแหงนดูดาวนักษัตร ก็รู้ว่าบุตรเกิดโดยฤกษ์ดาวโจร ลูกของตนที่จะเกิดจากครรภ์ของภรรยานั้น จะเป็นโจรผู้ร้ายกาจเที่ยวเข่นฆ่ามนุษย์เสียมากมายวันรุ่งขึ้นปุโรหิตจึงเข้าไปในพระราชวัง เข้าเฝ้าพระเจ้าปเสนทิโกศล เพื่อทูลถวายรายงานถึงเหตุอาเพศที่เกิดขึ้นเมื่อคืนก่อน และกราบทูลว่าเป็นเพราะลูกที่เกิดจากนางพราหมณีที่เรือน
ของตน พระราชาสอบถามว่าอาเพศดังกล่าวจักเกิดเหตุอะไร ปุโรหิตกราบทูลว่า เขาจักเป็น มหาโจร พระราชาถามต่อว่าจักเป็นโจรทำร้ายผู้คน หรือเป็นโจรประทุษร้ายราชสมบัติ ปุโรหิตกราบทูลว่า เขาจะไม่มีภัยต่อราชสมบัติ จะเป็นโจรคนเดียว พระราชาตรัสว่า เป็นโจรคนเดียวจะทำอะไรได้ ถ้าเขาทำเหตุอันใดขึ้นในอนาคต เราก็จักจัดการเขาเสียด้วยกองทหารของเราจงเลี้ยงเขาไว้เถิด
วันที่ตั้งชื่อกุมารนั้น สิ่งของเหล่านี้คือ ฝักดาลอันเป็นมงคลที่วางไว้ ณ ที่นอน ลูกศรที่วางไว้ที่มุม มีดน้อยสำหรับตัดขั้วตาลซึ่งวางไว้ในปุยฝ้ายต่างส่งแสงลุกโพลงขึ้น แต่หาได้เป็นอันตรายหรือเบียดเบียนใครไม่ ปุโรหิตาจารย์นั้นเชื่อตามตำราว่า ลูกตนต้องเป็นคนโหดร้ายทารุณแน่ ก็เลยตั้งชื่อเด็กคนนี้เป็นการแก้เคล็ดเสียว่า “อหิงสกกุมาร"แปลว่า เด็กผู้ไม่เบียดเบียนใคร" เมื่ออหิงสกกุมาร มีอายุพอจะศึกษาศิลปวิทยาแล้ว บิดามารดาจึงส่งไปเรียนกับอาจารย์ทิศาปาโมกข์ ที่
เมืองตักกศิลา อหิงสกกุมารเป็นคนมีปัญญา ขยัน ตั้งใจเรียนดี มีความประพฤติเรียบร้อย คอยรับใช้อาจารย์ด้วยความเคารพ พูดจาไพเราะจึงเป็นที่พอใจของอาจารย์มาก แต่ศิษย์คนอื่น ๆ เห็นว่าเป็นคนโปรดของอาจารย์ก็ริษยา พากันออกอุบายเพื่อกำจัดอหิงสกมาณพ โดยแบ่งคนออกเป็นสามพวก พวกแรกก็เข้าไปบอกอาจารย์ว่า ได้ยินมาว่าอหิงสกมาณพจะประทุษร้ายท่านอาจารย์ ทีแรกอาจารย์ไม่เชื่อ แต่เมื่อพวกที่สอง และ พวกที่สามเข้าไปบอกเรื่องอย่างเดียวกัน หนักเข้าก็กลับใจเชื่อ แล้วอาจารย์จึงหาอุบายฆ่าอหิงสกมาณพ อาจารย์ทิศาปาโมกข์คิดต่อไปอีกว่า ถ้าเราฆ่ามัน ใคร ๆ ก็จะคิดว่าอาจารย์ทิศาปาโมกข์ ลงโทษมาณพผู้มาเรียนศิลปะยังสำนักของตนแล้วปลงชีวิตเสีย ดังนี้ ก็จักไม่มีใครมาเล่าเรียนศิลปะกับเราอีก ถ้าเป็นอย่างนั้นเราก็จะเสื่อมลาภ ดังนั้นจึงได้ออกอุบายยืมมือคนอื่นฆ่า โดยให้มาณพนั้นฆ่าคนให้ได้พันคน ด้วยคาดว่าเมื่ออหิงสกกุมารปฏิบัติตามคำสั่งของตน เที่ยวได้ฆ่าคนไป ก็จะต้องมีใครคนใดคนหนึ่งต่อสู้ และฆ่ามาณพนั้นจนได้ แล้วอาจารย์จึงบอกมาณพนั้นว่า ยังมีคำสำหรับศิลปะวิชาขั้นสุดท้ายอยู่ เจ้าจะต้องฆ่าคนให้ได้พันคน เพื่อประกอบพิธีบูชาครู (ครุทักษิณา) มิฉะนั้นวิชานั้นก็จะไม่มีผล ครั้งแรกอหิงสกกุมารปฏิเสธโดยอ้างว่าตนเกิดในตระกูลที่ไม่เบียดเบียนใคร แต่อาจารย์บอกว่าศิลปศาสตร์ที่เรียนไปแล้วถ้ามิได้บูชาครูก็จะไม่อำนวยผลที่ต้องการ ด้วยนิสัยรักวิชาอหิงสกกุมารจึงยอมปฏิบัติตาม โดยออกไปสู่ป่าชาลิวันในแคว้นโกศล อาศัยอยู่ที่หุบเขาแห่งหนึ่งคอยดักฆ่าคนเดินทางออกไปป่า กลางคืนเที่ยวปล้นหมู่บ้านและตำบลต่าง ๆ ได้ฆ่าคนล้มตายเป็นจำนวนมากครั้งแรกอหิงสกมาณพก็ไม่ได้ตัดนิ้วคนที่ตนฆ่าเก็บเอาไว้ แต่เมื่อฆ่าคนมากเข้า ๆ ก็จำไม่ได้ว่าฆ่าไปแล้วกี่คน เพื่อเป็นเครื่องนับจำนวนคนที่ตนฆ่า อหิงสกมาณพจึงตัดเอานิ้วมือคนที่ตายคนละหนึ่งนิ้วมาเก็บไว้ แต่เก็บ ๆ ไปก็มีนิ้วที่เสียหายไปบ้างไม่ครบจำนวน จึงเปลี่ยนมาทำเป็นพวงมาลัยคล้องคอไว้ ฉะนั้นคนจึงเรียกชื่อว่า องคุลิมาล
นับแต่ออกจากสำนักอาจารย์มา องคุลิมาลได้คอยดักซุ่มฆ่าคนเรื่อยไป เจอใครฆ่าหมด
ไม่ว่าผู้หญิงผู้ชายคนเฒ่าคนแก่เด็กเล็กเด็กแดงไม่เลือก จนไม่มีใครสามารถไปป่าเพื่อหาฟืนได้ในตอนกลางคืนก็เข้ามายังภายในบ้านใช้เท้าถีบประตู แล้วก็ฆ่าคนที่นอนนั้นแหละ หมู่บ้านก็ร่นถอยไปตั้งในนิคม นิคมก็ร่นถอยไปตั้งอยู่ในเมือง พวกมนุษย์ทิ้งบ้านเรือนจูงลูกจูงหลานเดินทางมาล้อมพระนครสาวัตถี เป็นระยะทางถึงสามโยชน์ ตั้งค่ายพักประชุมกันที่ลานหลวง ต่างคร่ำครวญกล่าวกันว่า ข้าแต่สมมติเทพ ในแว่นแคว้นของพระองค์ มีโจรชื่อองคุลิมาลพราหมณ์ปุโรหิตได้ยินเรื่องดังนั้นก็รู้ว่า โจรองคุลิมาลนั้นต้องเป็นบุตรของเราเป็นแน่จึงกล่าวกะนางพราหมณีว่า เกิดโจรชื่อองคุลิมาลขึ้นแล้ว โจรนั้นคงไม่ใช่ใครอื่น ต้องเป็นอหิงสกกุมารลูกของเราเป็นแน่ บัดนี้พระราชาจะเสด็จออกไปจับเขา เราควรจะทำอย่างไร นางพราหมณีพูดว่า ฉันจะไปหาลูกของฉัน จึงออกเดินทางเพื่อไปบอกลูกบุตรชายให้หนีไปเสีย
เวลานั้นโจรองคุลิมาลได้นิ้วมือมาจำนวน ๙๙๙ นิ้ว ยังขาดอยู่นิ้วเดียวเท่านั้นก็จะครบ ๑,๐๐๐ นิ้ว จึงกระหายเป็นกำลังและตั้งใจว่าถ้าพบใครก็จะฆ่าทันทีเพื่อจะได้นิ้วมือครบตามต้องการเช้าตรู่วันนั้นพระบรมศาสดาทรงตรวจดูสัตว์โลก ทรงเห็นว่าองคุลิมาลเป็นผู้มีอุปนิสัยที่จะโปรดให้บรรลุมรรคผลได้ และทรงพระดำริเห็นว่า ถ้าพระองค์มิได้เสด็จไปโปรด องคุลิมาล ก็จะกระทำมาตุฆาต ฆ่ามารดาของตนเสีย จะเป็นผู้กระทำอนันตริยกรรม ไม่สามารถบรรลุธรรมใด ๆ ได้ พระองค์จึงเสด็จจาริกมุ่งตรงไปยังป่าชาลิวันเป็นระยะทาง ๓๐ โยชน์ เพื่อมิให้องคุลิมาลได้ฆ่ามารดาโจรองคุลิมาลได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาแต่ไกลก็คิดว่า “เมื่อก่อน แม้พวกบุรุษมากันสิบคนก็ดี ยี่สิบคนก็ดี สามสิบคนก็ดี สี่สิบคนก็ดี ยังต้องรวมเป็นกลุ่มเดียวกันเดินทาง แต่ถึงอย่างนั้น บุรุษพวกนั้นยังต้องตายเพราะมือเรา นี่มีเพียงสมณะนี้ผู้เดียว ไม่มีเพื่อนมาด้วย ชะรอยสมณะนี้คงจะมีดีอะไรสักอย่างแล้วจะมาลองดีกับเรา ถ้ากระไร เราพึงปลิดชีวิตสมณะนี้เถิด” จึงถือดาบและโล่ผูกสอดแล่งธนู ติดตามพระผู้มีพระภาคไปทางพระปฤษฎางค์
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงบันดาลอิทธิฤทธิ์ ในลักษณะที่องคุลิมาลจะวิ่งจนสุดกำลังก็ไม่อาจทันพระผู้มีพระภาคผู้เสด็จไปตามปกติได้ เมื่อเป็นดังนั้น องคุลิมาลโจรคิดว่า น่าอัศจรรย์จริง เมื่อก่อนนี้แม้ช้างกำลังวิ่ง ม้ากำลังวิ่ง รถกำลังแล่น เนื้อกำลังวิ่ง เราก็ยังวิ่งตามจับได้ แต่ว่านี่
เราวิ่งจนสุดกำลัง ยังไม่อาจทันสมณะนี้ซึ่งเดินไปตามปกติได้ คิดดังนี้แล้วจึงหยุดยืนกล่าวกะ
พระผู้มีพระภาคว่า “หยุดก่อนสมณะ หยุดก่อนสมณะ” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เราหยุดแล้ว
องคุลิมาล ท่านเล่าจงหยุดเถิด”
องคุลิมาลโจรคิดอยู่ว่า”สมณศากยบุตร ปกติมักเป็นคนพูดจริงมีปฏิญญาจริง แต่สมณะ
รูปนี้ กำลังเดินไปอยู่แท้ ๆ กลับพูดว่า เราหยุดแล้ว คงจะต้องมีนัยอะไรสักอย่าง เราน่าจะถามสมณะรูปนี้ดูจะดีกว่า” จึงกราบทูลกับพระผู้มีพระภาคว่า “สมณะ ท่านกำลังเดินไป ยังกล่าวว่า เราหยุดแล้ว และยังกล่าวกะข้าพเจ้าผู้หยุดแล้ว ว่าไม่หยุด สมณะ ข้าพเจ้าขอถามท่านว่า ท่านหยุดแล้วเป็นอย่างไร ข้าพเจ้ายังไม่หยุด เป็นอย่างไร?”
พระพุทธองค์มีพระดำรัสตอบว่า "องคุลิมาลเราได้หยุดคือเลิกฆ่าสัตว์ตัดชีวิตแล้ว ส่วนตัวเธอยังไม่หยุด คือยังฆ่าสัตว์ตัดชีวิตอยู่ เราจึงพูดเช่นนั้น" องคุลิมาลได้ยินพระสุรเสียงอันแจ่มใส พระดำรัสที่คมคายเช่นนั้น รู้สึกสำนึกผิดได้ทันทีจึงวางดาบ ทิ้งธนู สลัดแล่งโยนทิ้งลงเหวที่หุบเขา เข้าไปถวายบังคมแทบเบื้องพระบาทยุคลของพระพุทธองค์ ทูลขอบวชในพระพุทธศาสนา
พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้บวชเป็นภิกษุด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา โดยได้ทรงพิจารณาเห็นว่า
องคุลิมาลนั้นถึงพร้อมด้วยอุปนิสัยและได้เคยถวายภัณฑะ คือ บริขาร ๘ แก่ท่านผู้มีศีลในปางก่อน จึงทรงเหยียดพระหัตถ์เบื้องขวาออกจากบังสุกุลจีวร เปล่งพระสุรเสียง ตรัสเรียกว่า จงมาเป็นภิกษุเถิด จงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด พร้อมกับพระดำรัสของพระผู้มี
พระภาคเจ้านั้นนั่นเอง เพศคฤหัสถ์ขององคุลิมาลนั้นก็อันตรธานไป บรรพชาและอุปสมบทก็สำเร็จ
องคุลิมาลนั้นก็เป็นผู้ปลงผมนุ่งห่มผ้ากาสาวะ มีบาตรพร้อมด้วยเครื่องอัฏฐบริขาร เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยอิริยาบถ เหมือนพระเถระอายุพรรษาร้อยพรรษา พระบรมศาสดา จึงเสด็จพาองคุลิมาลภิกษุไปสู่พระเชตวันมหาวิหาร ณ กรุงสาวัตถี
เวลานั้นมหาชนที่มาชุมนุมกันอยู่ที่ประตูพระราชวังของพระเจ้าปเสนทิโกศล ต่างส่งเสียงร้องทุกข์กับพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า ในแว่นแคว้นของพระองค์ มีโจรชื่อว่าองคุลิมาล เป็นคนหยาบช้าฆ่าคนโดยไม่มีความกรุณา องคุลิมาลโจรนั้น เข่นฆ่าพวกมนุษย์แล้วเอานิ้วมือร้อยเป็นพวง
แขวนคอไว้ ขอพระองค์จงกำจัดมันเสียเถิด
พระเจ้าปเสนทิโกศลนั้นทรงกลัวองคุลิมาล มิได้มีพระประสงค์จะไปจับโจรองคุลิมาลเลย แต่ทรงเกรงต่อคำครหา จึงทรงดำริว่า “ถ้าเราจะไปเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ พระองค์ก็ทรงตรัสถามว่า พระองค์พาไพร่พลออกมาเพราะเหตุไร เราก็จะทูลว่า ก็พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้สงเคราะห์
ข้าพระองค์ ด้วยประโยชน์ในภพหน้าแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แม้ประโยชน์ในปัจจุบันก็ทรงสงเคราะห์ด้วย ข้าพระองค์ออกมาจับโจรองคุลิมาล ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นว่าเราจะจับโจรได้ก็คงจะทรงนิ่งเสีย แต่ถ้าทรงเห็นว่าเราจะแพ้ ก็จะทรงตรัสว่า มหาบพิตร จะมีประโยชน์อะไร ด้วยการเสด็จมาด้วยเรื่องของโจรเพียงคนเดียว ถ้าเป็นอย่างนั้นคนก็จะเข้าใจเราอย่างนี้ว่า พระราชาเสด็จออกจับโจร แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงห้ามเสียแล้ว ดังนี้ เราก็จะพ้นคำครหาด้วยประการฉะนี้”
ดังนั้นพระเจ้าปเสนทิโกศลจึงได้เสด็จเคลื่อนพลออกจากนครสาวัตถี ด้วยกระบวนม้าประมาณ ๕๐๐ เสด็จเข้าไปยังพระเชตวันมหาวิหารแต่ยังวันทีเดียว เสด็จไปด้วยพระยาน
จนสุดทางที่ยานจะสามารถไปได้แล้ว เสด็จลงจากพระยานแล้ว ทรงพระราชดำเนินด้วย
พระบาทเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า “ดูกรมหาบพิตร พระเจ้าพิมพิสารแห่งแคว้นมคธทรงทำให้พระองค์ทรงขัดเคือง หรือเป็นเจ้าลิจฉวี เมืองเวสาลี หรือว่าเป็นพระราชาผู้เป็นปฏิปักษ์เหล่าอื่น?”
พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลว่า “มิได้พระเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉัน ออกมาจับโจรชื่อว่าองคุลิมาล”
พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า “ดูกรมหาราช ถ้ามหาบพิตรทอดพระเนตรเห็น องคุลิมาลเป็นผู้ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจาก
การลักทรัพย์ เว้นจากการพูดเท็จ ฉันภัตตาหารหนเดียว ประพฤติพรหมจรรย์ พระองค์จะทรงกระทำอย่างไรกะเขา?”
พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงตรัสว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันจะพึงทำความเคารพ
จะจัดถวายจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร หรือก็จะจัดการรักษาป้องกัน
คุ้มครองอย่างเป็นธรรม ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แต่องคุลิมาลโจรนั้น เป็นคนทุศีล มีบาปจะมีความสำรวมด้วยศีลถึงอย่างนั้นได้อย่างไร?”
ขณะนั้น ท่านพระองคุลิมาล นั่งอยู่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงยก
พระหัตถ์เบื้องขวาขึ้นชี้ตรัสบอกพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า “ดูกรมหาราช นั่น องคุลิมาล”
พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงเห็นองคุลิมาลก็ทรงมีความกลัว ทรงหวาดหวั่น พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงกลัว จึงตรัสกับพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า “อย่าทรงกลัวเลย มหาราช อย่าทรงกลัวเลย มหาราช บัดนี้ องคุลิมาลนี้ไม่เป็นภัยกับผู้ใดแล้ว”
ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงระงับความกลัวได้แล้ว จึงเสด็จเข้าไปหาพระองคุลิมาล
ถึงที่ที่ท่านนั่งอยู่ แล้วทรงดำริว่าการที่จะถือเอาชื่อที่เกิดขึ้นเพราะกรรมอันชั่วช้า คือชื่อ "องคุลิมาล"
นั้นนำมาเรียกพระภิกษุ เป็นการไม่สมควร เราจักเรียกท่านด้วยชื่อแห่งโคตรของบิดามารดา ดังนี้ จึงถามว่า “บิดาของพระผู้เป็นเจ้ามีโคตรอย่างไร มารดาของพระผู้เป็นเจ้ามีโคตรอย่างไร?”
ท่านพระองคุลิมาลถวายพระพรว่า “ดูกรมหาบพิตร บิดาชื่อ คัคคะ มารดาชื่อ มันตานี
ขอถวายพระพร”
พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงทรงปวารณาที่จะถวายจีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร แก่ท่านคัคคะมันตานีบุตร. และเพื่อแสดงถึงความตั้งพระทัยในการกล่าวปวารณานั้นอย่างจริงจัง พระเจ้าปเสนทิโกศล ก็ทรงเปลื้องผ้าสาฎกที่คาดเอววางไว้ ณ ที่ใกล้เท้าของพระเถระ
แต่เนื่องจากในครั้งนั้น ท่านพระองคุลิมาล ถือการอยู่ในป่าเป็นวัตร ถือเที่ยวบิณฑบาต
เป็นวัตร ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ถือผ้าสามผืนเป็นวัตร ดังนั้น ท่านองคุลิมาลจึงได้ถวายพระพร
พระเจ้าปเสนทิโกศลว่า “อย่าเลย มหาราช ไตรจีวรของอาตมภาพมีบริบูรณ์แล้ว”
พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงสรรเสริญพระพุทธคุณ ที่ทรงสามารถปราบโจรร้ายได้ โดย
ไม่ต้องใช้อาญาและศาสตราอาวุธใด ๆ ลำดับนั้น แล้วทรงลุกจากที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มี
พระภาคแล้วเสด็จกลับไป
หลังจากที่ท่านพระองคุลิมาลได้บวชแล้ว ท่านได้รับความลำบากในเรื่องการบิณฑบาต แรก ๆ ท่านก็ออกบิณฑบาตภายนอกพระนคร แต่พวกชาวบ้านพอเห็นท่านแล้วต่างสะดุ้งกลัว
วิ่งหนีเข้าป่าไปบ้าง ปิดประตูบ้าง บางพวกพอได้ยินว่า องคุลิมาล ก็วิ่งหนีเข้าไปเรือนปิดประตูเสีย เมื่อไม่อาจหนีได้ทันก็ยืนผินหลังให้ พระเถระไม่ได้แม้ข้าวยาคูสักกระบวยหนึ่ง หรือแม้ภัตสัก
ทัพพีหนึ่ง เมื่อท่านเห็นว่าไม่สามารถบิณฑบาตได้ภายนอกพระนครก็เข้าไปบิณฑบาตยังใน
พระนคร แต่พอเข้าไปทางประตูเมืองนั้น ก็มีเสียงตะโกนว่า “องคุลิมาลมาแล้ว ๆ”
เพราะเหตุนี้จึงเป็นเหตุให้พระพุทธองค์ทรงบัญญัติพระวินัยไว้เนื่องจากประชาชนได้ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรจึงให้โจรที่ขึ้นชื่อโด่งดังบวชเล่า.
พระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย โจรที่ขึ้นชื่อโด่งดัง ภิกษุ
ไม่พึงให้บวช รูปใดให้บวช ต้องอาบัติทุกกฎ”
ต่อมา ท่านเข้าไปบิณฑบาตในเมือง เห็นหญิงคลอดลูกไม่ออกคนหนึ่งจึงเกิดความสงสาร เมื่อกลับจากบิณฑบาตแล้ว ได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ กราบทูลเรื่องนั้นให้ทรงทราบ
พระพุทธองค์ทรงพระปริวิตกเกี่ยวกับเรื่องพระเถระลำบากด้วยภิกษาหาร เพื่อจะสงเคราะห์พระเถระนั้นโดยการลดความหวาดกลัวของประชาชนลง พระองค์จึงทรงมีพระประสงค์จะให้พระเถระแสดงสัจจกิริยาอนุเคราะห์แก่สตรีผู้เจ็บครรภ์เพื่อให้ชนทั้งหลายเห็นว่า บัดนี้
พระองคุลิมาลเถระกลับได้มีเมตตาจิต กระทำความสวัสดีให้แก่พวกมนุษย์ด้วยสัจจกิริยา ฉะนั้นชนทั้งหลายย่อมคิดว่าควรเข้าไปหาพระเถระ ต่อแต่นั้นพระเถระก็จะไม่ลำบากด้วยภิกษาหาร
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “ดูกร องคุลิมาล ถ้าอย่างนั้น เธอจงเข้าไปหาสตรีนั้นและกล่าวกับสตรีนั้นอย่างนี้ว่า “ดูกรน้องหญิง ตั้งแต่เราเกิดมาแล้ว จะได้รู้สึกว่าแกล้งปลงสัตว์จากชีวิตหามิได้ ด้วยสัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่เธอ ขอความสวัสดีจงมีแก่ครรภ์ของเธอเถิด”
พระองคุลิมาลกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าข้าพระองค์กล่าวเช่นนั้นก็จะเป็นว่าข้าพระองค์กล่าวเท็จทั้งรู้อยู่เป็นแน่ เพราะข้าพระองค์แกล้งปลงสัตว์เสียจากชีวิตเป็นอันมาก”
พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า “ดูกร องคุลิมาล เธออย่าถือเอาเหตุนั้นเลย นั่นไม่ใช่ชาติของเธอ นั่นเป็นเวลาเมื่อเป็นคฤหัสถ์ ธรรมดาคฤหัสถ์ย่อมฆ่าสัตว์บ้าง ย่อมกระทำอทินนาทานเป็นต้นบ้าง แต่บัดนี้ ชาติของเธอชื่อว่าอริยชาติ เพราะฉะนั้น ถ้ารังเกียจจะพูดอย่างนั้น เธอจงเข้าไปหาสตรีนั้น แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า “ดูกรน้องหญิง ตั้งแต่เราเกิดแล้วในอริยชาติ จะได้รู้สึกว่าแกล้งปลง
สัตว์เสียจากชีวิตหามิได้ ด้วยสัจจะวาจานี้ “ขอความสวัสดีจงมีแก่เธอ ขอความสวัสดีจงมีแก่ครรภ์ของเธอเถิด”
พระองคุลิมาลทูลรับพระดำรัสพระผู้มีพระภาคแล้ว เข้าไปหาหญิงนั้นถึงที่อยู่ เพื่อกระทำสัจจกิริยาให้หญิงนั้นคลอดโดยสวัสดี ครั้นสิ้นคำสัจจกิริยานั้น ทารกก็ออกจากครรภ์มารดาอย่างง่ายดาย ดุจเทน้ำออกจากกระบอก ทั้งมารดาและบุตรต่างก็มีความปลอดภัย
คำสัจจกิริยาของพระเถระนี้ มหาชนต่างก็ถือว่าเป็นพระปริตรอันศักดิ์สิทธิ์ ในประเทศไทยเองก็ได้อยู่ในบทสวดทั้งเจ็ดตำนานและสิบสองตำนาน ชื่อว่า องคุลิมาลปริตร ในครั้งนั้น แม้กระทั่งตั่งที่พระเถระนั่งกระทำสัจจกิริยา ชนทั้งหลายเพียงนำสัตว์ดิรัจฉานตัวเมียที่มีครรภ์คลอดลำบากมาให้นอนที่ตั่งนั้น ก็จะคลอดออกได้โดยง่าย แม้แต่สัตว์ตัวใดที่พิการนำมาไม่ได้ ก็เพียงแต่เอา
น้ำล้างตั่งนั้นไปรดศีรษะ ก็ทำให้สัตว์นั้นตกลูกได้โดยง่าย หรือแม้โรคอย่างอื่นก็สงบไป
นับแต่นั้นมาปัญหาเรื่องภิกษาหารของพระเถระก็หมดไป แต่พระประสงค์ของพระพุทธองค์ที่จะให้พระเถระกระทำสัจจกิริยาด้วยถ้อยคำดังกล่าวข้างต้น ด้วยทรงมีพระพุทธประสงค์อีกประการหนึ่งก็คือ ในอดีตตั้งแต่พระเถระบรรพชาแล้ว ได้บำเพ็ญในสมณธรรม แต่ขณะที่พระเถระกระทำกัมมัฏฐานนั้นก็ไม่สามารถทำจิตให้สงบได้ เพราะภาพการฆ่าพวกมนุษย์ ภาพการโอดครวญ
วิงวอนของเหล่ามนุษย์ที่ท่านกำลังจะฆ่า ว่า ข้าพเจ้าเป็นคนเข็ญใจ ข้าพเจ้ายังมีบุตรเล็ก ๆ อยู่ โปรดให้ชีวิตแก่ข้าพเจ้าเถิดนาย ภาพความพิการของมือและเท้าของผู้ที่ท่านประหัตประหารเข้ามาสู่จิตของท่าน จนไม่สามารถกระทำสมณธรรมได้
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ให้พระเถระกระทำสัจจกิริยาโดยอ้างอริยชาติ ด้วยทรงเล็งเห็นว่า พระองคุลิมาลต้องกระทำชาติ (ที่เป็นคฤหัสถ์) นั้นให้เป็นอัพโพหาริก (เป็นโมฆะ) คือให้พระเถระ
ไม่คิดถึงเรื่องในเมื่อครั้งเป็นคฤหัสถ์ แต่ให้ท่านได้มีความเข้าใจว่าท่านเกิดใหม่ในอริยชาติแล้ว
ให้ท่านคิดดังนี้เสียก่อนแล้วเจริญวิปัสสนา จึงจักบรรลุพระอรหันต์ได้
ต่อมาพระองคุลิมาลได้หลีกออกจากหมู่คณะไปบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ผู้เดียว ไม่นานเท่าไรนักก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเที่ยวจาริกไปตามชนบทแล้วทรงมาถึงพระเชตวัน มหาวิหาร พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงกระทำมหาทานแข่งกับพวกประชาชน ได้นิมนต์พระพุทธองค์พร้อมเหล่าภิกษุทั้งหมดมาเพื่อจะถวายทาน วันที่สองพวกชาวเมืองถวาย พระราชาทรงถวายยิ่งกว่าทานของพวกชาวเมืองเหล่านั้นอีก พวกชาวเมืองก็ถวายยิ่งกว่าทานของพระองค์ ครั้นเมื่อล่วงไปหลายวันอย่างนั้น พระราชาทรงเกรงว่าจะแพ้พวกชาวเมือง
พระนางมัลลิกาเทวีผู้เป็นพระมเหสีได้กราบทูลขอจัดอสทิสทาน โดยรับสั่งให้สร้างมณฑปสำหรับพระพุทธองค์ทรงประทับภายในวงเวียน ให้ภิกษุที่เหลือนั่งภายนอกวงเวียน; จัดช้าง ๕๐๐ เชือกถือเศวตฉัตร ๕๐๐ คัน ยืนกั้นอยู่เบื้องบนแห่งภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป จัดทำเรือทองคำ ๑๐ ลำวางไว้ ณ ท่ามกลางมณฑป เจ้าหญิงองค์หนึ่งๆ จัดให้นั่งบดของหอมอยู่ในระหว่างภิกษุ ๒ รูป เจ้าหญิงองค์หนึ่งๆ ถือพัด ยืนพัดภิกษุ ๒ รูป เจ้าหญิงที่เหลือ จัดให้นำของหอมที่บดแล้วมาใส่ในเรือทองคำ เจ้าหญิงบางพวกให้ถือกำดอกอุบลเขียว เคล้าของหอมใส่ไว้ในเรือทองคำ เพราะเหตุที่เหล่าชาวเมืองไม่สามารถหาเจ้าหญิง หาเศวตฉัตร หาช้างได้ เพราะของเหล่านี้เป็นของที่มีเฉพาะสำหรับพระราชาเท่านั้น ชาวเมืองจะต้องแพ้อย่างแน่นอน
พระราชาจึงรับสั่งให้จัดมหาทานตามวิธีที่พระนางกราบทูล แต่ก็ปรากฏว่าช้างยังขาด
อีกหนึ่งเชือก พระราชาจึงตรัสบอกพระนางมัลลิกาว่าความจริงแล้วมีช้างอยู่พอดี ๕๐๐ เชือก แต่ช้างเชือกนั้นเป็นช้างดุร้าย หากเห็นภิกษุเข้าก็จะพยศ
พระเทวีจึงทูลพระราชาว่าขอให้จัดโดยการนำช้างที่ดุร้ายนั้นยืนอยู่ข้างพระองคุลิมาล พระราชาจึงรับสั่งให้ราชบุรุษทำอย่างนั้น ด้วยเดชของพระเถระ ช้างเชือกนั้น แม้สักว่าพ่นลมจมูก ก็ทำไม่ได้ จึงสอดหางเข้าในระหว่างขา ได้ปรบหูทั้งสอง หลับตายืนอยู่
ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายถามพระองคุลิมาลว่า ท่านเห็นช้างตัวดุร้าย ยืนกั้นฉัตรอยู่แล้ว ท่านไม่กลัวหรือ พระองคุลิมาลตอบว่า ไม่กลัว ภิกษุเหล่านั้น จึงไปกราบทูลพระศาสดาว่า
พระองคุลิมาลพยากรณ์พระอรหัตด้วยคำไม่จริง เพราะเนื่องจากมีเฉพาะผู้ที่เป็นพระอรหันต์เท่านั้นที่จะไม่กลัวความตาย พระศาสดาทรงตรัสว่า พระองคุลิมาลมิได้พูดเท็จ เพราะว่า
ภิกษุผู้เป็นพระขีณาสพย่อมไม่กลัว
อีกเรื่องหนึ่งก็คือ เมื่อครั้งพระเถระปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุแล้วภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมว่า พระองคุลิมาลเถระเมื่อสิ้นชีวิตแล้วจะไปบังเกิดที่ไหน ?
พระศาสดาเสด็จมาแล้ว ตรัสภิกษุทั้งหลายว่านั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ปรารภกันถึงเรื่องที่พระองคุลิมาลเถระจะไปบังเกิด พระพุทธองค์จึงทรงตรัสว่า
พระเถระไม่มาเกิดอีกแล้วเพราะท่านได้ปรินิพพาน (หมายถึงบรรลุพระอรหัตตผล) แล้ว เมื่อภิกษุทั้งหลายทูลถามว่า พระองคุลิมาลเถระฆ่ามนุษย์เป็นจำนวนมากเช่นนั้น ท่านได้ปรินิพพานแล้วหรือ พระพุทธองค์จึงตรัสรับรองว่าเป็นอย่างนั้น เพราะท่านพระองคุลิมาลก่อนนั้นท่านไม่ได้กัลยามิตรสักคนหนึ่ง จึงได้ทำบาปอย่างนั้นในกาลก่อน แต่ภายหลังเธอได้กัลยาณมิตร
เป็นปัจจัย จึงได้เป็นผู้ไม่ประมาท เหตุนั้น ท่านจึงสามารถละบาปกรรมนั้นได้แล้วด้วยกุศล
โดย : วัดไผ่โรงวัว
ที่อยู่ : ต.บางตาเถร อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี
จำนวนเข้าดู : 163
ปรับปรุงล่าสุด : 17 ตุลาคม พ.ศ. 2564 08:52:20
ข้อมูลเมื่อ : 17 ตุลาคม พ.ศ. 2564 08:52:20