



เทศกาลงานบุญประเพณี
สวดมนต์เสี่ยงทายเทียนพระแข




ประเพณีเสี่ยงทายพระแข ชาวบ้านจะเริ่มเตรียมงานตั้งแต่วันขึ้น ๑๓ - ๑๔ ค่ำ เตรียมตัดไม้ไผ่ หาข้าวเหนียวมาไว้ เผาข้าวหลามในวัน ๑๔ หรือ ๑๕ ค่ำ
เช้าวัน ๑๕ ค่ำ ก็จะพากันไปวัด ทำพิธีกันในวัด แต่หมู่บ้านบางแห่งอยู่ไกล ก็จะปลูกโรงพิธี นิมนต์พระไป เสร็จงานบุญภาคกลางวัน ก็ตกค่ำ ก็เริ่มกระบวนการฟั่นเทียน
เทียนที่ใช้ ชาวบ้านนำมาถวายเทวดา เทวดานี้เป็นเทวดาสมมติ นุ่งขาวห่มขาวเหมือนพราหมณ์ คัดเลือกจากผู้ที่อาวุโส เป็นคนดีมีศีลสัตย์ เทวดาเอาเทียนเล่มน้อยๆ มาฟั่นรวมกันเป็นสามเล่มใหญ่ มีความหมาย ถึงฤดูทั้งสาม ได้แก่ ฤดูร้อน ฤดูหนาว และฤดูฝน ฟั่นเทียนเสร็จ เทวดาก็นิมนต์พระสงฆ์เข้าโรงพิธี อาราธนาศีล ชาวบ้านรับศีลแล้ว ก็ฟังพระสวดมนต์ ใกล้พระสวดจบ ชาวบ้านก็จะนำข้าวหลามที่ยังไม่ได้ปลอกเปลือก มาใส่กระบุงกระจาด ถวายให้พระเอาไว้ฉันเช้าวันรุ่งขึ้น พระยังสวดมนต์ต่อ จนถึงบทมงคลจักรวาลใหญ่ พระก็จะกำข้าวเม่าและกล้วยที่ชาวบ้านนำมาใส่กระบุงไว้แล้ว สาดโปรยไปรอบๆบริเวณ ข้าวเม่า หมายถึงฝน กล้วย หมายถึงลูกเห็บ เป็นเคล็ดฝนและลูกเห็บได้ตกลงมาแล้ว ต่อไป ฝนจะตกต้องตามฤดูกาล ตอนนี้เด็กๆจะสนุกกัน เพราะได้วิ่งเข้าไปแย่งกล้วยเอาไปกิน ใกล้เวลาเทวดาก็จะหยิบเทียนที่ฟั่นไว้ทั้งสามเล่ม มาติดเรียงกันตามราวไม้ กำหนดให้โคนไม้อยู่ทิศใต้ ปลายไม้อยู่ทิศเหนือ เทียนต้นที่หนึ่งติดโคนไม้ทางใต้ หมายถึงฤดูร้อน เทียนต้นกลาง หมายถึงฤดูฝน เทียนปลายไม้ หมายถึงฤดูหนาว
เอาขันใส่น้ำเต็ม มารองไว้ใต้เทียน เพื่อรองรับน้ำตาเทียน ทันทีที่พระจันทร์อยู่ตรงกลางศีรษะ เทวดากล่าวคำชุมนุมเทวดา แล้วจุดเทียน พระสงฆ์สวดภาณสูรย์ ภาณจันทร์ ดนตรีปี่พาทย์ก็บรรเลงเพลงมหาฤกษ์มหาชัย ไฟเทียนติดทั้งสามเล่ม เทวดานำชาวบ้านกราบ เทวดาหมุนราวเทียนไปทางทิศตะวันออก แล้วหมุนกลับไปตั้งตรงเหมือนเก่า เทวดาหมุนแบบนี้สามครั้ง ชาวบ้านกราบจนครบสามครั้ง เทวดาก็จะหมุนเทียนให้ปลายชี้ลงดิน ชาวบ้านก็จะพากันสังเกตว่า น้ำตาเทียนสามเล่มนั้น เล่มไหนมีน้ำตามากน้อย
ถ้าน้ำตาเทียนมาก แสดงว่าปีนั้นจะมีน้ำมาก ถ้าน้ำตาเทียนน้อย ก็แสดงว่าปีนั้นน้ำจะมีน้อย ถ้าเกิดประกายปะทุ ก็แสดงว่า ปีนั้นจะมีฝนและฟ้าร้องฟ้าผ่ามาก เทียนหมดเล่ม ผู้รู้ก็จะทำนายถึงฝนและน้ำในปีนั้นๆ... เป็นอันเสร็จพิธี
สาระของประเพณีพระแข น่าจะอยู่ที่การจุดเทียนเสี่ยงทายดินฟ้าอากาศ...ส.พลายน้อย บอกว่า ประเพณีพระแขนี้ ดูไปก็คล้ายประเพณีทิวาลี ของอินเดีย ซึ่งมีขึ้นในเดือน ๑๒
ไทยเราน่าจะเอามาจากเขมร แขที่แปลว่าพระจันทร์ เป็นคำเขมร คนเมืองสังขะ จังหวัดสุรินทร์ มีประเพณี ปะอ๊อก ปะแค แปลว่า ฟ้อนพระจันทร์ กลางวันมีการตักบาตรข้าวเม่า เที่ยงคืนก็มีการจุดเทียน ๑๒ เล่มเสี่ยงทาย ส.พลายน้อย คัดพงศาวดารละแวกของเขมร เป็นหลักฐานยืนยัน ว่ามีพิธีแบบนี้ ในราชสำนักเขมร คืนเพ็ญเดือน ๑๒ ของเขมรโบราณ ไม่ได้กล่าวถึง การลอยกระทง แบบที่คนไทยทำกันทั้งบ้านเมือง คนไทยลอยกระทงโดยมีหลายเป้าหมาย ลอยเสี่ยงทายก็มี ลอยไปบูชารอยพระพุทธบาทก็มี และสุดท้าย ลอยบาปเคราะห์ที่เคยมี ให้ลอยหายไปกับสายน้ำ อย่าวนเวียนกลับมาอีก.
วันที่จัดงาน : 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 - 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565
โดย : วัดลุ่มบัว
ที่อยู่ : ต.บ้านโพธิ์ อ.เมืองสุพรรณบุรี จ.สุพรรณบุรี
จำนวนเข้าดู : 127
ปรับปรุงล่าสุด : 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 22:44:13
ข้อมูลเมื่อ : 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 22:44:13