ข้อมูลทั่วไป
QR Code วัดกลางบางพระ
รหัสวัด
ชื่อวัด
วัดกลางบางพระ
นิกาย
มหานิกาย
ประเภทวัด
วัดราษฎร์
วันตั้งวัด
-
วันรับวิสุงคามสีมา
วันที่ 09 เดือน มกราคม ปี 2544
ที่อยู่
วัดกลางบางพระ
เลขที่
86
หมู่ที่
4
ซอย
-
ถนน
-
แขวง / ตำบล
บางพระ
เขต / อำเภอ
นครชัยศรี
จังหวัด
นครปฐม
ไปรษณีย์
73120
เนื้อที่
20 ไร่ 1 งาน 76 ตารางวา
Line
watklangbangpra
Facebook
คลิกดู
มือถือ
0905949959
คุณสมบัติวัด
จำนวนเข้าดู : 796
ปรับปรุงล่าสุด : 29 ธันวาคม พ.ศ. 2564 09:09:44
ข้อมูลเมื่อ : 27 กันยายน พ.ศ. 2564 20:39:14
ประวัติความเป็นมา
ประวัติวัดกลางบางพระ
วัดกลางบางพระ
ตั้งอยู่เลขที่ ๘๖ หมู่ที่ ๔ ตำบลบางพระ อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม พื้นที่ตั้งวัดมีเนื้อที่ ๒๓ ไร่ ๕๕ ตารางวา ตามหนังสือโฉนดเลขที่ ๑๒๗๒๔ ,๖๐๑๗๑,๖๓๕๒๐ มีอาณาเขตดังนี้ คือ
ทิศเหนือ จดคลองสาธารณะประโยชน์
ทิศใต้ จดที่นายแบน คุ้มใหญ่โต นายเทียน รอดอารมณ์
ทิศตะวันออก จดคลองบางพระ
ทิศตะวันตก จดที่แสวง คงประจักษ์ นายเทียน ปลื้มละมัย และนายเทียน รอดอารมณ์
ความเป็นมาแต่เดิม
วัดกลางบางพระ เป็นวัดเก่าแก่และเคยเป็นวัดร้างมาช่วงระยะเวลาหนึ่ง จากคำบอกเล่าต่อๆ กันมาว่า เหตุผลที่ชื่อ "วัดกลางบางพระ" สืบเนื่องมาจากเมื่อราวปี พ.ศ.๒๓๐๐ พม่าได้ยกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา ชาวบ้านและข้าราชบริพารบางส่วนเกรงกลัวภัยสงครามจากพม่า จึงคิดอพยพหลบหนีออกจากกรุงศรีอยุธยาโดยทางน้ำ พาหนะในการหลบหนีคือ เรือ ในการอพยพหลบหนีครั้งนี้ ได้นำพระพุทธรูปปฎิมากรและต้นศรีมหาโพธิ์มาด้วย เรือดังกล่าวได้หลบหนีมาทางแม่น้ำเจ้าพระยา และลำคลองต่างๆ จนมาถึงปากคลองบางพระของแม่น้ำท่าจีน ได้เกิดลมพายุใหญ่พัดพาหลบเข้ามาในคลองบางพระ เรือได้ล่มลงในคลองบางพระ พระพุทธรูปปฏิมากรได้จมลงในคลองบางพระ ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันสร้างวัดบริเวณที่พระพุทธรูปปฏิมากรจมน้ำชายคลองบางพระ และได้ขนานนามวัดที่สร้างขึ้นว่า “วัดกลางบางพร” ส่วนต้นศรีมหาโพธิ์ได้ลอยน้ำไปตามลำคลองบางพระ จนถึงตำบลศรีมหาโพธิ์ซึ่งเป็นที่ดอน ต้นศรีมหาโพธิ์จึงได้ขึ้น ณ ที่ตรงนั้น ชาวบ้านในท้องถิ่นเห็นเป็นบารมีต้นศรีมหาโพธิต้นนี้ จึงพร้อมกันในการสร้างวัดขึ้น และขนานนามว่า “วัดศรีมหาโพธิ์” จนถึงทุกวันนี้
ส่วนวัดกลางบางพระเป็นวัดอยู่ระหว่าง “ กลาง ” วัดบางพระกับวัดศรีมหาโพธิ์ จึงขนานนามว่า “วัดกลางบางพระ”
จากคำบอกเล่ากันมา และตามหลักฐานของกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการว่า วัดกลางบางพระ ได้รับรองสถานะยกขึ้นเป็นวัดในต้นกรุงรัตนโกสินทร์ คือราวพุทธศักราช ๒๓๒๕ จึงน่าเชื่อว่าวัดนี้กำเนิดมาแล้วประมาณ ๒๓๕ ปี
กาลต่อมา ก็มีการพัฒนาขึ้นมาโดยลำดับ ซึ่งเดิมเป็นที่ทุรกันดารบางปีก็มีพระสงฆ์มาอยู่จำพรรษาบางปีก็ไม่มีพระอยู่จำพรรษา ซึ่งในสมัยนั้นถาวรวัตถุต่างๆ ในวัด ก็ยังไม่มี จะมีก็แต่อุโบสถที่ชำรุดทรุดโทรม ไม่มีหลังคาและกุฏิเก่าๆ อีก ๒ หลัง จากนั้นจึงได้มีการซ่อมแซมบูรณปฏิสังขรณ์เรื่อยมาโดยลำดับ
ลักษณะพื้นที่ทั่วไป
สภาพพื้นที่ของวัดกลางบางพระ ตั้งอยู่ริมฝั่งคลองบางพระ เนื่องจากพื้นที่ของวัดค่อนข้างลุ่มจึงมีน้ำท่วมบ้างเป็นบางปี ต่อมาในสมัยหลวงพ่อพุฒ เป็นเจ้าอาวาส ได้ทำการถมดินปรับพื้นที่ในบริเวณวัดใหม่ทั้งหมด เพื่อป้องกันมิให้น้ำท่วมในปีที่มีน้ำมาก
ยุคที่มีการสร้างวัดสมัยเริ่มต้น
อุโบสถวัดกลางบางพระ จากหลักฐานของกรมการศาสนากระทรวงศึกษาธิการ ระบุไว้ว่า วัดกลางบางพระได้รับรองสถานะยกขึ้นเป็นวัดเมื่อ พ.ศ.๒๓๒๕ (ปีเดียวกับการสร้างกรุงรัตนโกสินทร์) ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.๒๓๓๘ จากหลักฐานในการสร้างในสมัยปลายอยุธยา และจากคำบอกเล่าของพระเดชพระคุณพระธรรมสิริชัย เจ้าคณะภาค ๑๔ ในสมัยนั้นได้มาตรวจตามวัดต่างๆ และได้มีโอกาสมาเยี่ยมวัดกลางบางพระ ซึ่งดูตามลักษณะของอุโบสถและพระพุทธรูปแล้ว ท่านยืนยันว่าสร้างในปลายอยุธยาจริง ซึ่งในสมัยของพระอธิการดาเป็นเจ้าอาวาสได้มีการซ่อมแซมบูรณปฏิสังขรณ์อุโบสถซึ่งชำรุดทรุดโทรมไปมาก หลังคาก็ไม่มีต้องใช้หญ้าคามุงแทน ต่อมาได้มีการเรี่ยไรเงินชาวบ้านซ่อมแซมเพื่อให้ใช้การได้พอชั่วคราวซึ่งในสมัยนั้นวัดยังไม่มีสิ่งก่อสร้างอะไรมาก บางปีก็มีพระสงฆ์อยู่จำพรรษา บางปีก็ไม่มีพระสงฆ์อยู่จำพรรษา มีหอสวดมนต์อยู่ ๑ หลัง และกุฏิอีกจำนวน ๔ หลัง และได้รับการพัฒนามาพอสมควรซึ่งต่อมา ถาวรวัตถุสิ่งก่อสร้างต่างๆ ก็ยังมิได้มีมาก อยู่กันไปตามสภาพ และในสมัยนั้นตำบลบางพระยังทุรกันดารพอสมควร วัดกลางบางพระมาได้รับการพัฒนาอย่างจริงจังนับตั้งแต่พระอธิการพุฒ สุนฺทโร มาดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๗ เป็นต้นมา ได้บูรณปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุต่าง ๆ อาทิเช่น อุโบสถ สิ่งก่อสร้างถาวรวัตถุต่างๆ ทำให้วัดกลางบางพระเจริญขึ้นมาโดยลำดับ ซึ่งปัจจุบันสิ่งก่อสร้างต่างๆมีจำนวนมาก อาทิเช่น พระพุทธรูปองค์ใหญ่หลวงพ่อสมหวัง ขนาดหน้าตักกว้าง ๑๕ เมตร ๓๙ เซนติเมตร สูง ๓๐ เมตร ๓๙ เซนติเมตร วิหาร ศาลาการเปรียญ หอสวดมนต์ กุฏิ ฌาปนสถาน ศาลาปฏิบัติธรรม ศาลาเอนกประสงค์ ซึ่งได้รับการก่อสร้างและพัฒนามาโดยลำดับ
การพัฒนาวัดที่มีมาโดยลำดับ
นับตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๙๗ หลังจากที่พระอธิการพุฒ สุนฺทโร ในสมัยนั้นได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสของวัดกลางบางพระ ก็ได้ทำการพัฒนาวัด บูรณะ ปฏิสังขรณ์ เรื่อยมา โดยได้เริ่มมีการวางผังวัดใหม่เพื่อสร้างถาวรวัตถุต่างๆ ในสมัยนั้นวัดเป็นที่ลุ่ม ซึ่งต้องทำการถมดินเป็นจำนวนมาก ได้รับแรงศรัทธาจากชาวบ้านในสมัยนั้น ซึ่งให้ความร่วมมือในการถมดินเป็นอย่างดี ในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ นั้นเองที่ได้ดำริมีการก่อสร้างศาลาการเปรียญของวัดกลางบางพระใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณสามปีเศษ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ได้ทำการก่อสร้างโรงเรียนประถมศึกษาจำนวน ๑ หลัง โดยได้รับทุนจากทางราชการเป็นบางส่วน ต่อจากนั้นก็ได้พัฒนาวัดมาโดยลำดับ จัดสร้างกุฏิ จำนวน ๕ หลัง ในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ สร้างหอสวดมนต์และฌาปนสถานขึ้นในปีเดียวกัน สร้างโรงเรียนปริยัติธรรมขึ้นต่อในปี พ.ศ.๑๕๑๓ เสริมทำทางถมลูกรังเข้าวัด สร้างวิหารและโรงครัวขึ้นอีกปี พ.ศ. ๒๕๒๒ ต่อจากนั้นได้มีการถมดินเสริมบริเวณวัดและซ่อมอุโบสถครั้งใหญ่ในครั้งที่ ๒ สร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่หลวงพ่อสมหวัง ตามนิมิตคำบอกกล่าวของเทวดา ทำการสร้างตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๕ มาเสร็จเอาในปี ๒๕๒๗ ซึ่งมีหน้าตักขนาดหน้าตักกว้าง ๑๕ เมตร ๓๙ เซนติเมตร สูง ๓๐ เมตร ๓๙ เซนติเมตร ต่อจากนั้นก็ได้พัฒนาปรับปรุงวัดโดยการสร้างกำแพงวัดด้านทิศเหนือ ทิศตะวันตก และซุ้มประตูทางเข้าวัด ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๓๓ ได้สร้างศาลาหอประชุมขึ้นอีก ๑ หลังและสร้างศาลาเจดีย์จัตุรมุขบรรจุ พระเกศจุฬามณี ในปี พ.ศ.๒๕๓๔ สร้างศาลาการเปรียญขึ้นอีก ๑ หลัง คู่กับหลังเก่าและบูรณะหลังเก่า ในช่วงนั้นได้มี นายชั้น นางผ่อง กลั่นสนิท ถวายที่ดินอีกประมาณ ๒ ไร่เศษ ในปี พ.ศ.๒๕๓๕ ได้ทำการปรับปรุงที่ดินที่ได้รับการถวายให้เป็นพื้นเดียวกับสถานที่วัด และสร้างกุฏิสงฆ์ใหม่อีก ๑ หลัง ซึ่งในการพัฒนาวัดกลางบางพระ มีความเจริญขึ้นมาในสมัยหลวงพ่อพุฒ สุนฺทโร นั่นเอง
ประวัติการสร้างถาวรวัตถุ
๑. อุโบสถหลังเก่า
เป็นอุโบสถเก่าแก่คู่มากับการสร้างวัด ประมาณ ๒๓๕ ปี อุโบสถหลังนี้ กว้าง ๖ เมตร ยาว ๑๖ เมตร มีลักษณะเป็นแบบสถาปัตยกรรมไทย หลังคา ๓ ชั้น โครงสร้างส่วนใหญ่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งหลังสุดเมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๘ ได้รับการซ่อมแซมมาแล้ว ๓ ครั้ง ครั้งแรกสมัยพระอธิการดาเป็นเจ้าอาวาส ราว พ.ศ. ๒๔๗๗ ต่อมาสมัย หลวงพ่อพุฒ สนฺทโร ทำการบูรณปฏิสังขรณ์เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๗ เป็นเงิน ๑๖๕,๐๐๐.๐๐ บาท
๒. ศาลาการเปรียญหลังเก่า
มีลักษณะแบบทรงไทยหลังเก่า ๒ ชั้นเสาไม้มะค่า โครงสร้างส่วนใหญ่เป็นไม้ มีขนาดกว้าง ๑๖ เมตร ยาว ๓๐ เมตร ก่อสร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นเงิน ๓๒๖,๐๐๐.๐๐ บาท
๓. โรงเรียนประถมศึกษา
สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๕ โดยใช้ชื่อว่าโรงเรียนวัดกลาง (พุฒราษฎร์อนุเคราะห์) โครงสร้างส่วนใหญ่เป็นไม้ ตอม่อเป็นปูนคอนกรีตเสริมเหล็ก ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๖ เป็นเงิน ๓๐๐,๐๐๐.๐๐ บาท โดยมีขนาดกว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๔๐ เมตร
๔. กุฎิสงฆ์
สร้างกุฎิสงฆ์จำนวน ๕ หลัง เมื่อพ.ศ.๒๕๑๐ มีลักษณะเป็นแบบทรงไทยประยุกต์ เสาและคานคอดินเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก โครงสร้างส่วนใหญ่เป็นไม้ มุงกระเบื้องเกล็ดปลา ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๒ เป็นเงิน ๕๔๐,๐๐๐.๐๐ บาท โดยกุฏิทั้งหมดปลูกยาวชิดกัน มีขนาดกว้าง ๖ เมตร ยาว ๖๐ เมตร
๕. ฌาปนสถาน
สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๐ ลักษณะเป็นทรงไทยประยุกต์ปูนปั้นจตุรมุข รากฐานเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก โครงสร้างส่วนใหญ่เป็นปูนประกอบไปด้วยลายปูนปั้น มุงกระเบื้องเกล็ดปลา ก่อสร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๑ เป็นเงิน ๑,๓๕๔,๐๐๐.๐๐ บาท ฌาปนสถานแห่งนี้มีขนาดกว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๒๑ เมตร
๖. โรงเรียนปริยัติธรรม(ตึก)
สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๒ โครงสร้างส่วนใหญ่เป็นปูนและไม้ ลักษณะเป็นตึก ๒ ชั้น หลังคาทรงไทยประยุกต์ มีมุขยื่นมาด้านหน้าประมาณ ๖ เมตร หลังมุงกระเบื้องเกล็ดปลา ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๓ เป็นเงิน ๑,๕๔๖,๙๐๐.๐๐ บาท มีขนาดกว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๔๐ เมตร
๗. วิหาร
สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๐ โครงสร้างส่วนใหญ่เป็นไม้และปูน เป็นลักษณะทรงไทยประยุกต์ชั้นเดียวมุงกระเบื้องเกล็ดปลา ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑ เป็นเงิน ๘๕๐,๐๐๐.๐๐ บาท มีขนาดกว้าง ๘ เมตร ยาว ๒๐ เมตร
๘. โรงครัว
สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๒ โครงสร้างส่วนใหญ่เป็นไม้เเละปูน เป็นลักษณะทรงไทยประยุกต์ชั้นเดียว มุงกระเบื้องเกล็ดปลา ก่อสร้างแล้วเสร็จในปีเดียว เป็นเงิน ๕๘๕,๐๐๐ บาท มีขนาดกว้าง ๘ เมตร ยาว ๑๖ เมตร
๙. ซ่อมอุโบสถครั้งที่ ๒
หลังจากที่ได้บูรณปฏิสังขรณ์มาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๗ ซึ่งไม่ดีเท่าที่ควรจึงได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่อีกครั้ง โดยการปรับปรุงทำใหม่ทั้งหมด เปลี่ยนกระเบื้องและตัวไม้เครื่องบน โดยซ่อมเสร็จเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๓ ร่วมเป็นเงินทั้งสิ้น ๑,๕๘๐,๐๐๐.๐๐ บาท
๑๐. ถมดินบริเวณวัด
ปรับปรุงถมดินในบริเวณวัดใหม่ทั้งหมด ในส่วนที่ลุ่มที่ยังไม่ได้ถมปรับระดับ ค่าใช้จ่ายในครั้งนี้ประมาณ ๒,๔๐๐,๐๐๐.๐๐ บาท เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๖
๑๑. พระพุทธรูปองค์ใหญ่ หลวงพ่อสมหวัง
สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕ โดยดำริของหลวงพ่อพุฒ ตามนิมิตคำบอกกล่าวของเทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เนื่องจากตำบลบางพระยังไม่มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่เป็นสัญลักษณ์ของตำบลและวัด จึงได้จัดสร้างพระพุทธรูป ให้ชื่อว่าหลวงพ่อใหญ่ ต่อมาชาวบ้านขนานนามท่านว่าหลวงพ่อสมหวังจนมาถึงปัจจุบัน ขนาดหน้าตักกว้าง ๑๕ เมตร ๓๙ เซนติเมตร สูง ๓๐ เมตร ๓๙ เซนติเมตร ยกฐานขึ้นจากพื้นดินประมาณ ๖ เมตร มีซุ้มหอระฆังประดับทิศทั้ง ๔ ทิศ มีกำแพงล้อมรอบด้านบน มีบันไดขึ้นบริเวณด้านหน้า มีพญานาค ๒ ตัว ข้างบันไดหัวอยู่ด้านล่าง ชั้นล่างเป็นห้องภิกษุสามเณร บริเวณใกล้เคียงปรับปรุงเทปูน ปลูกต้นไม้ ทำสวนหย่อม เพื่อเป็นพุธบูชา รวมระยะก่อสร้างเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๕ เสร็จเมื่อ ๒๕๒๗ รวม ๓ ปี เป็นเงินทั้งสิ้น ๑๐,๗๗๓,๐๐๐.๐๐ บาท
๑๒. ศาลาเอนกประสงค์ - หอประชุม
สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๘ โครงสร้างส่วนใหญ่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ก่อซีเเพ็คฉาบปูน หลังคาโครงเหล็ก มุงกระเบื้องลอนคู่ ไม่มีเสากลาง สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๙ เป็นเงิน ๑,๘๕๐,๔๐๐.๐๐ บาท โดยมีขนาดกว้าง ๒๐ เมตร ยาว ๔๐ เมตร
๑๓. ถังเก็บน้ำฝน
สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๐ ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเอาไว้พระสงฆ์และประชาชนใกล้เคียงได้ใช้อุปโภค-บริโภค จำนวน ๒ ลูก โดยมีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด ๔ เมตรสูง ๑๒ เมตร เป็นเงิน ๒๔๐,๐๐๐ บาท เสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๐
๑๔. กำแพงวัด
สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๐ ด้านทิศเหนือและทิศตะวันตกโครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ก่อด้วยอิฐศิลาแรงโดยมีความสูงประมาณ ๒.๒๐ เมตร ยาว ๑๐๔ เมตร เสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๒ เป็นเงิน ๖๔๐,๐๐๐.๐๐ บาท
๑๕. ซุ้มประตูวัด
สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๒ โครงสร้างส่วนใหญ่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ลายปูนปั้น เป็นซุ้มลักษณะคล้ายทรงไทยประยุกต์ มุมกระเบื้องเกล็ดปลา เสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๓ โดยมีความกว้าง ๖ เมตร สูง ๑๒ เมตร เป็นเงิน ๕๖๐,๐๐๐.๐๐ บาท
๑๖. ศาลาสุนทรวุฒิคุณ(พุฒ หาญสมัย)
สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๓ โครงสร้างส่วนใหญ่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ทรงไทยประยุกต์ ยอดแหลมมุมกระเบื้องลอนคู่เขียว เสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๓ เป็นเงิน ๑,๖๘๓,๐๐๐.๐๐ บาท โดยมีขนาดกว้าง ๑๘ เมตร ยาว ๒๔ เมตร
๑๗. พระเกศจุฬามณีจตุรมุข
สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๓ ลักษณะเป็นวิหารจตุรมุขชั้นเดียว หลังคาทรงเเหลมมุมกระเบื้องเกล็ดปลา มีบันได ๔ ทิศ ภายในบรรจุเจดีย์พระเกศจุฬามณี โดยแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๔ เป็นเงินทั้งสิ้น ๕,๘๘๐,๐๐๐.๐๐ บาท มีขนากว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๑๒ เมตร
๑๘. ศาลาการเปรียญหลังใหม่
สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๔ โดยลักษณะคล้ายหลังเก่า สร้างติดกับหลังเก่า โครงสร้างส่วนใหญ่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคาแบบทรงไทยประยุกต์ ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นเงิน ๕,๘๐๔,๐๐๐.๐๐ บาท โดยมีความกว้าง ๑๗ เมตร ยาว ๓๐ เมตร
๑๙. ซ่อมศาลาการเปรียญหลังเก่า
เดิมสร้างมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๐ ซึ่งชำรุดทรุดโทรมไปตามการเวลา จึงทำการบรูณปฏิสังขรณ์ใหม่ เพื่อให้เข้ากับหลังใหม่ที่สร้างติดกัน โดยเปลี่ยนกระเบื้องใหม่พร้อมกับปรับปรุงโครงสร้างใหม่ เป็นเงิน ๒,๔๘๐,๐๐๐.๐๐ บาท
๒๐. ห้องน้ำ
สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๖ โดยลักษณะสร้างเป็น ๒ แถว หันหน้าเข้าหากัน แถบละ ๑๐ ห้อง มีห้องอาบน้ำ ๔ ห้อง โครงสร้างส่วนใหญ่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ปูกระเบื้อง เสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๖เป็นเงิน ๕๐๐,๐๐๐.๐๐ บาท โดยมีความกว้าง ๘ เมตร ยาว ๑๖ เมตร
๒๑. กุฏิเจ้าอาวาส
สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๖ โครงสร้างส่วนใหญ่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ก่ออิฐถือปูน เป็นลักษณะตึกทรงไทยประยุกต์ มีมุขยื่นออกมาตรง กลาง ๖ เมตร หลังคามุงกระเบื้องเกล็ดปลา สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๗ เป็นเงินทั้งสิ้น ๖,๕๐๐,๐๐๐.๐๐ บาท โดยมีความกว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๔๐ เมตร
๒๒. ศาลาปฏิบัติธรรม
สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๘ มีลักษณะคล้ายกุฏิเจ้าอาวาส(แบบเดียวกัน) สร้างคู่กันมีถนนผ่านกลาง อยู่ติดกับชายคลองบางพระหน้าวัด เสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๙ เป็นเงิน ๖,๙๐๐,๐๐๐.๐๐ บาท มีความกว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๔๐ เมตร
๒๓. อุโบสถหลังใหม่
เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๔๑ เป็นลักษณะทรงไทยประยุกต์ โครงสร้างส่วนใหญ่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคามุงกระเบื้อสุโขทัย โดยสร้างยกลอยจากพื้นขึ้นไปประมาณ ๒.๔๐ เมตร ได้ทำสัญญาในการก่อสร้าง ๒๐ เดือน (อุโบสถหลังนี้ทรงเดียวกับวัดวังตะกู) เพียงปรับส่วนลดต่างๆ ไปตามความเหมาะสม เนื่องจากมีพื้นที่จำกัด งบประมาณในการก่อสร้าง ๑๕,๐๐๐,๐๐๐.๐๐ บาท โดยมีความกว้าง ๑๔.๕๐ เมตร ยาว ๒๗.๔๐ เมตร (วัดรอบด้านนอกเสาหาญ) สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๔ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๔ จัดงานผูกพัทธสีมา ปิดทองผังลูกนิมิต เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม-๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๖
|
สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๕ มีลักษณะก่ออิฐถือปูนหลังคามุงกระเบื้อง มีห้องน้ำ-ห้องอาบน้ำ รวม ๑๘ ห้อง โดยมีขนาดความกว้าง ๖ เมตร ยาว ๓๒ เมตร ด้านหลังเป็นที่ปัสสาวะชายรวม ๓๔ ที่ และห้องน้ำผู้พิการจำนวน ๒ ห้อง งบประมาณในการก่อสร้างประมาณ ๑,๖๐๐,๐๐๐.๐๐ บาท
๒๕. ศาลาเอนกประสงค์หลังใหม่
พ.ศ. ๒๕๕๘ จัดสร้างศาลาเอนกประสงค์โครงสร้างเป็นเหล็ก หลังคามุงแผ่นเมลทัลชีส เสาเหล็ก มีความยาวขนาด ๕๐ เมตร ความกว้างขนาด ๒๐ เมตร งบประมาณในการก่อสร้าง ๒,๔๐๐,๐๐๐.๐๐ บาท
ประวัติปูชนียวัตถุของวัด
๑. พระประธานประจำอุโบสถ(หลวงพ่อทับทิม)
เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ มีพุทธลักษณะคล้ายกับหลวงพ่อโสธร ซึ่งคาดว่าน่าจะสร้างในสมัยเดียวกัน และทำด้วยหินทรายแดงแกะสลัก สมัยปลายอยุธยา โดยวัดนี้ได้รับรองสถานะยกขึ้นเป็นวัดเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ.๒๓๓๘ ตามหลักฐานของกรมการศาสนา
๒. พระพุทธรูปองค์ใหญ่(หลวงพ่อสมหวัง)
เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สร้างขึ้นตามนิมิตคำบอกกล่าวของเทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีหน้าตัดกว้างขนาด ๑๕ เมตร ๓๙ เซนติเมตร สูง ๓๐ เมตร ๓๙ เซนติเมตร ประดิษฐาน ณ ใจกลางของวัดกลางบางพระ สร้างขึ้นด้วยการก่ออิฐปูนปั้น โครงสร้างส่วนใหญ่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก เป็นที่เคารพของชาวตำบลบางพระ และพุทธศาสนิกชนทั่วไป สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๕ เสร็จเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๗ หลวงพ่อพุฒ สุนฺทโร อดีตเจ้าอาวาสวัดกลางบางพระ เป็นประธานในการจัดสร้าง
๓. เจดีย์พระเกตุจุฬามณี
สร้างด้วยทองเหลืองหล่อ มีลักษณะคล้ายทรงระฆังคว่ำ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒ เมตร มียอดเป็นแบบสถูปอินเดีย ประดิษฐาน ณ มณฑปพระเกศจุฬามณีวัดกลางบางพระ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๓โดยมี หลวงพ่อพุฒ สุนฺทโร อดีตเจ้าอาวาสวัดกลางบางพระ เป็นประธานในการจัดสร้าง
|
เป็นรูปปั้นของสมเด็จของพระเจ้าอู่ทองยืนถือดาบบนแท่น และพร้อมด้วยนายทหารคนสนิท อีก ๒ คน ยืนอยู่ด้านล่าง ในองค์ประดับด้วยของมีค่าต่างๆ ที่ติดไว้ตามองค์ท่าน ซึ่งของนี้เป็นของที่ขุดพบในเมืองเก่าอู่ทอง อาทิเช่น ลูกปัดทวารวดีสีต่างๆ หยก ลูกกำปั่น เป็นต้น เป็นที่เคารพของประชาชนทั่วไป สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๕๒๒ มีนายบุญธรรม เสือดำ อยู่ที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นผู้สร้างถวาย
ลำดับรายนามเจ้าอาวาสวัดกลางบางพระ
จากหลักฐาน ตามที่พอจะทราบได้จากคำบอกเล่าต่อๆ กันมา ได้มีพระภิกษุที่ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสมาแล้ว พอจะลำดับได้ดังนี้ คือ
๑.หลวงพ่อเฟื่อง หาหลักฐานในการดำรงตำแหน่งไม่พบ
๒.หลวงพ่อพริ้ง หาหลักฐานในการดำรงตำแหน่งไม่พบ
๓.หลวงพ่อพุก หาหลักฐานในการดำรงตำแหน่งไม่พบ
๔.พระอธิการดา หาหลักฐานในการดำรงตำแหน่งไม่พบ
๕.พระอธิการย้อม หาหลักฐานในการดำรงตำแหน่งไม่พบ
๖.พระอธิการไว นามสกุลแจ่มนิยม ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสจนถึง พ.ศ.๒๔๙๖
๗.พระครูสุนทรวุฒิคุณ (พุฒ สุนฺทโร) นามสกุลหาญสมัย วิทยฐานะ น.ธ.เอก มีสมณศักดิ์ครั้งหลังสุด เป็น(จร.ชอ.) พ.ศ.๒๕๓๓ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส พ.ศ.๒๔๙๕ - พ.ศ. ๒๕๔๒ (รวม ๔๗ ปี)
๘.พระครูศรีสุตากร (อภิชาติ อภิญาโณ ป.ธ. ๖,พธ.ม.) มีสมณศักดิ์หลังสุดเป็น(ทพจล.ชพ.) พ.ศ.๒๕๕๕ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส พ.ศ.๒๕๔๒ - ปัจจุบัน
รายการพระ
พระครูศรีสุตากร (อภิชาติ) อภิญาโณ
ตำแหน่ง : เจ้าอาวาส
ข้อมูลเมื่อ : 11-12-2564
ปรับปรุงล่าสุด : 28-12-2564