



ข้อมูลทั่วไป
QR Code วัดสุวรรณรัตนาราม
รหัสวัด
02730205002
ชื่อวัด
วัดสุวรรณรัตนาราม
นิกาย
มหานิกาย
ประเภทวัด
วัดราษฎร์
วันตั้งวัด
ปี 2509
วันรับวิสุงคามสีมา
วันที่ 31 เดือน ตุลาคม ปี 2548
ที่อยู่
วัดสุวรรณรัตนาราม (หลักเมตร)
เลขที่
45
หมู่ที่
1
ซอย
1
ถนน
3020
แขวง / ตำบล
ทุ่งขวาง
เขต / อำเภอ
กำแพงแสน
จังหวัด
นครปฐม
ไปรษณีย์
73140
เนื้อที่
26 ไร่ - งาน 71 ตารางวา
Facebook
คลิกดู
มือถือ
0875326942
คุณสมบัติวัด
จำนวนเข้าดู : 411
ปรับปรุงล่าสุด : 29 กันยายน พ.ศ. 2564 11:21:43
ข้อมูลเมื่อ : 15 กันยายน พ.ศ. 2564 00:00:00
ประวัติความเป็นมา
ทะเบียนประวัติวัดสุวรรณรัตนาราม (หลักเมตร)
ที่ตั้งวัดในปัจจุบัน
วัดสุวรรณรัตนาราม (หลักเมตร) เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่เลขที่ ๔๕ หมู่ที่ ๑ ตำบลทุ่งขวาง อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม
พื้นที่ตั้งวัด
มีเนื้อที่ ๒๖ ไร่ - งาน ๗๑ ตารางวา มีอาณาเขตดังนี้ คือ
ทิศเหนือ จดพื้นที่เอกชน
ทิศใต้ จดถนน สาย นฐ. ๓๐๒๐
ทิศตะวันออก จดทางสาธารณะ
ทิศตะวันตก จดกับพื้นที่เอกชน
ความเป็นมาเดิม
วัดสุวรรณรัตนาราม เดิมชื่อวัดหลักเมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙ ตั้งอยู่ที่บ้านหลักเมตรหมู่ที่ ๑ ตำบล ทุ่งขวาง อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม พื้นที่ติดต่อกับโรงเรียนบ้านหลักเมตรในปัจจุบัน เหตุที่ชื่อว่า หลักเมตร ชาวบ้านเก่าๆ เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนที่ดินบริเวณนี้มีความรกร้าง ต้นไม้ต่างๆ ขึ้นปรกคลุมทั่วพื้นที่ การสัญจรใช้เกวียนเป็นส่วนใหญ่ หลักเขตต่างๆ มีเพียงหลักเขตของทหาร มีขนาดใหญ่ เป็นที่สังเกตได้ง่าย ด้วยเหตุกระมังจึงเป็นมาของชื่อหมู่บ้านว่า หลักเมตร
ต่อมาจำนวนชาวบ้านมากขึ้น การทำพิธีกรรมต่างๆ ทางศาสนา สถานที่วัดเดิมจึงคับแคบไม่เพียงพอแก่กิจกรรม ประกอบกับการขยายพื้นที่เป็นไปได้ยาก เพราะวัดมีเนื้อที่ติดกับโรงเรียน และพื้นที่ข้างๆ วัดเป็นบ้านโดยรอบ ชาวบ้านจึงประชุมและมีมติร่วมกันให้ย้ายวัด
ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๕๑๔ จึงย้ายวัดมาตั้งอยู่ ณ สถานที่ปัจจุบัน เลขที่ ๔๕ หมู่ที่ ๑ ตำบลทุ่งขวาง อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม โดยตั้งชื่อวัดใหม่ว่า วัดสุวรรณรัตนาราม ด้วยเหตุผลที่ตระกูล ทองเกิด และตระกูล แก้วขาว ได้ร่วมกันถวายที่ดินให้แก่วัด จึงได้นำคำว่า สุวรรณ ซึ่งแปลว่า ทอง และนำคำว่า รัตนะ ซึ่งแปลว่า แก้ว มาจากตระกูลทั้งสอง ประกอบกันเป็นชื่อวัด
ยุคที่มีการก่อสร้างเป็นวัดมีอุโบสถเป็นครั้งแรก
การสร้างอุโบสถของวัดสุวรรณรัตนาราม พระอธิการเทียบ ปวฑฺฒโน หรือที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า “หลวงปู่เทียบ” ดำริสร้างขึ้น โดยวางศิลาฤกษ์ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ หลวงปู่เป็นผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างมาก ถึงกับขายที่ดิน-ส่วนตัว แล้วนำเงินที่ได้มาสร้างโบสถ์ และดำเนินการก่อสร้างเรื่อยมาจนท่านมรณภาพ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๙
ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ พระอธิการอนุชิต อตฺตสนฺโต ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาส จึงได้ดำเนินการก่อสร้างอุโบสถต่อมา จนสร้างตัวอุโบสถเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๔๗ แล้วท่านก็ลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาส และลาสิกขาไปในที่สุด
ปี พ.ศ. ๒๕๔๘ พระอธิการวิศิษฎ์ วิสุทฺโธ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสรูปที่ ๕ ของวัด ดำเนินการสร้างกำแพงแก้วและเท – ปูพื้นรอบโบสถ์จนแล้วเสร็จ จึงได้ปรึกษากับชาวบ้าน มีมติให้จัดงานปิดทองฝังลูกนิมิตขึ้น ระหว่างวันที่ ๑๗ – ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๐ โดยทำพิธีผูกพัทธสีมาเมื่อวันพุธที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๐
การพัฒนาวัดที่มีสืบกันมาโดยลำดับ
หลังจากย้ายวัดมาตั้งอยู่ ณ สถานที่ปัจจุบัน ชาวบ้านร่วมกันสร้างกุฏิสงฆ์ และศาลาการเปรียญขึ้น ช่วงระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๑๔ - ๒๕๑๗ นี้ ชาวบ้านนิมนต์พระภิกษุจากที่ต่างๆ มาดูแลวัด แต่เป็นช่วงสั้นๆ จึงไม่มีเจ้าอาวาสที่แน่นอน
ในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ชาวบ้านจึงเดินทางไปอาราธนาพระมหากมล กมโล จากวัดไตรมิตรฯ กรุงเทพมหานครมาเป็นเจ้าอาวาส ในสมัยที่ท่านปกครองวัดนั้น วัดมีความเจริญขึ้นโดยลำดับ ซึ่งปรากฏสิ่งปลูกสร้าง ดังนี้
พ.ศ. ๒๕๒๐ ได้สร้างศาลาการเปรียญหลังใหม่ ขนาดกว้าง ๑๔ เมตร ยาว ๒๘ เมตร พร้อมกับสร้างห้องน้ำ ๘ ห้อง ขนาดกว้าง ๒ เมตร ยาว ๑๔.๕ เมตร จำนวน ๑ หลัง
พ.ศ. ๒๕๒๔ สร้างกุฏิสงฆ์ ก่ออิฐถือปูน ๒ ชั้น ขนาดกว้าง ๖ เมตร ยาว ๑๐.๕ เมตร จำนวน ๓ หลัง
พ.ศ. ๒๕๒๕ สร้างห้องน้ำ ๕ ห้อง ขนาดกว้าง ๒.๕ เมตร ยาว ๑๐ เมตร จำนวน ๑ หลัง
ด้านการปกครอง ท่านยังได้รับแต่งตั้ง ให้ดำรงตำแหน่ง เป็นรองเจ้าคณะอำเภอกำแพงแสนอีกด้วย ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ พระมหากมล ท่านได้ลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาส และลาสิกขาไปในที่สุด
ในปี พ.ศ. ๒๕๓๑ หลวงปู่เทียบ ปวฑฺฒโน ซึ่งเป็นพระเถระภายในวัด จึงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสสืบต่อมา ในสมัยของหลวงปู่ ท่านได้สร้างหอกลอง – ระฆัง โดยก่ออิฐถือปูน ประดับลายปูนปั้น ลักษณะ ๒ ชั้นขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๕๓๒ และดำเนินการสร้างฌาปนสถาน ขนาดกว้าง ๑๕ เมตร ยาว ๓๐ เมตร ซึ่งแล้วเสร็จช่วงปี พ.ศ. ๒๕๓๕
ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๓๔ หลวงปู่ได้ดำริสร้างอุโบสถขึ้น แต่ดำเนินการยังไม่เสร็จ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ หลวงปู่เทียบ ซึ่งมีโรครุมเร้ามากจึงมรณภาพ
ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ พระอธิการอนุชิต อตฺตสนฺโต ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส จึงดำเนินการก่อสร้างอุโบสถสืบต่อมา จนแล้วเสร็จ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๗ ช่วงกลางปีนั้นเอง ท่านได้ลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาส และลาสิกขาไปในที่สุด
จากนั้นชาวบ้านจึงไปอาราธนาพระอธิการวิศิษฎ์ วิสุทฺโธ จากวัดปลักไม้ลาย มารักษาการแทนเจ้าอาวาส ในปี พ.ศ. ๒๕๔๗ และได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส เมื่อ ๑ มกราคม ๒๕๔๘ ได้ดำเนินการสร้างกำแพงแก้วรอบอุโบสถ และเทปูน ปูพื้นด้วยหินแกรนิตรอบโบสถ์
พ.ศ. ๒๕๔๘ ดำเนินการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลจำนวน ๑ บ่อ พร้อมแท็งก์เก็บน้ำขนาด ๑๒ ลูกบาศก์เมตร
ในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ สร้างห้องน้ำ ๑๐ ห้อง ขนาดกว้าง ๔ เมตร ยาว ๑๙ เมตร จำนวน ๑ หลัง
สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ประชาชนให้ความเคารพนับถือ
หลวงพ่อศรีสิริเขต ปางมารวิชัย เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นองค์แรกของวัดฯ ที่ได้อัญเชิญมาจากอยุธยา
ประวัติการสร้างถาวรวัตถุ
อุโบสถ หลังแรก สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๔ – ๒๕๔๗
ศาลาการเปรียญ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๐
กุฏิสงฆ์ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๔
หอระฆัง สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๒
ฌาปนสถาน สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๒ – ๒๕๓๕
ห้องน้ำ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๐ , พ.ศ. ๒๕๕๐
โรงครัว สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๒
ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา
เมื่อวันจันทร์ที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๘
ผูกพัทธสีมา
เมื่อวันพุธที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๐
ลำดับรายนามเจ้าอาวาส
รูปที่ ๑ พระมหากมล กมโล ตั้งแต่ ปี พ.ศ ๒๕๑๘ ถึง ปี พ.ศ ๒๕๒๙
รูปที่ ๒ พระอธิการเทียบ ปวฑฺฒโน ตั้งแต่ ปี พ.ศ ๒๕๓๑ ถึง ปี พ.ศ ๒๕๓๙
รูปที่ ๓ พระอธิการอนุชิต อตฺตสนฺโต ตั้งแต่ ปี พ.ศ ๒๕๔๐ ถึง ปี พ.ศ. ๒๕๔๗
รูปที่ ๔ พระอธิการวิศิษฎ์ วิสุทฺโธ ตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ถึง ปี พ.ศ.๒๕๖๓
รูปที่ ๕ พระครูปลัดเพลิน ภทฺทปญฺโญ ตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๖๓ จนถึงปัจจุบัน
ไวยาวัจกร (ปัจจุบัน)
นายสมชาติ แก้วขาว
แผนที่ Google Map
Google Map Link
กดดู