เทศกาลงานบุญประเพณี
งานบุญประจำปี ฮีตเดือนสิบสอง
งานบุญประเพณีประจำปี ซึ่งจัดในช่วง วันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๑๒ ถึง วันขึ้น ๒ ค่ำ เดือนอ้าย ของทุกปี
เป็นงานบุญประเพณีซึ่งปรากฏในขนบฮีต ๑๒ เดือน ของชาวชาติพันธุ์ลาว ( งานบุญจารีต ๑๒ เดือน ) โดยในแต่ละเดือนนั้นจะมีงานบุญต่างๆเป็นประจำทุกเดือน
แต่ด้วยยุคสมัยและความเป็นอยู่นั้นได้แปรเปลี่ยนไป จึงต้องปรับเปลี่ยนและลงกำหนดการจัดงานให้เหมาะสมกับโอกาสและเวลา ซึ่งชื่อของงานมีความหมาย ดังนี้
งานบุญพระเข้าศีล หมายถึง พระสงฆ์เข้าประพฤติวัตรปฏิบัติธรรมเคร่งครัด เพื่อชำระศีลของตน เรียกว่าเข้ากรรมหรืออยู่ปริวาสกรรม
กินข้าวปุ้น หมายถึง การที่ชาวบ้านจากคุ้มต่างๆ ได้ทำขนมจีน(ข้าวปุ้น) พร้อมน้ำยา และอาหารต่างๆ มาจัดซุ้มเลี้ยงให้ผู้มาร่วมงานได้รับประทานฟรี โดยจะอวด ฝีมือกันอย่างเต็มที่
เอาบุญผะเหวด หมายถึง การช่วยกันจัดงานบุญเทศมหาชาติ "ผะเหวด" เป็นภาษาลาว ซึ่งภาษาไทยเรียกพระเวสสันดรนั่นเอง โดยจัดตามธรรมเนียมชาวลาว มีการ จัดขบวนสมมติเชิญพระเวสสันดรเข้าเมืองอย่างครึกครึ้ม หนึ่งเดียวในสุพรรณบุรีมีการเทศน์เรื่องพระมาลัย เรียกว่า มาลัยหมื่น(โปรดนรก) , มาลัยแสน(โปรดสวรรค์) , เทศน์พระบาลีฎีกา เวสสันดร หนึ่งพันพระคาถา , และเทศน์แหล่ประยุกต์สำเนียงลาว เรียกว่า ลำผะเหวด
เทศกาลทะเลทุง หมายถึง การที่ชาวบ้านทำธงใยแมงมุม คำว่า “ทุง” ในที่นี้ก็คือ “ธง” ในภาษาไทย โดยนำด้ายสีต่างๆมาพันเรียงกับซี่ไม้ไผ่เป็นแผงแผ่นๆ แล้วนำมา ร้อยต่อกันเป็นผืนบ้าง เป็นพวงแบบโมบายบ้าง แล้วนำไปปักหลักแขวนไว้ที่มณฑลพิธีเทศน์มหาชาติและทั่วบริเวณวัด เพื่อเป็นพุทธบูชา ดู สวยงามตระการตาเต็มไปหมดเหมือนดังน้ำในทะเล ซึ่งจะเป็นการฝึกความอดทนและฝึกสมาธิของผู้ที่ทำทุงนั้นไปในตัวด้วย
งานเทสกาลนี้ ได้ถือปฏิบัติมาแต่โบราณ ชาวบ้านซึ่งมีชาติพันธุ์เดิมจากหลวงพระบางและเวียงจัน ส.ป.ป.ลาว ซึ่งได้เข้ามาพำนักอาศัยที่ท้องถิ่นสุพรรณบุรีตั้งแต่ต้นกรุงธนบุรีนั้น โดยมีการฟื้นฟูสืบทอดรักษา โดยพระครูภาวนาโพธิวงศ์ พร้อมด้วยหน่วยงานการบริการและปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดทั้งองค์การต่างๆ พร้อมด้วยชาวบ้านในพื้นที่และใกล้เคียง ได้ร่วมกันฟื้นฟูและจัดให้เป็นงานบุญประเพณีประจำปีขึ้น และถือปฏิบัติมาจนถึงทุกวันนี้
ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก และจัดเป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรม และมีพี่น้องชาติพันธุ์ต่างงๆ เช่น ลาวเวียง ลาวโซ่ง ลาวพวน แกว เป็นต้น มาร่วมกิจกรรมกันอย่างหลากหลายชาติพันธ์ เป็นที่น่าสนใจและศึกษาด้านอุบายวิธีที่จะชักจูงจิตใจของคนในท้องถิ่น ให้มีความสมัครสามานสามัคคี ปรองดองสมานฉันท์ ได้เป็นอย่างดี โดยใช้วัฒนธรรมประเพณีเป้นเครื่องมือดังกล่าวมา
วันที่จัดงาน : 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 - 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565
โดย : วัดโพธิ์ทองเจริญ
ที่อยู่ : ต.พลับพลาไชย อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี
จำนวนเข้าดู : 128
ปรับปรุงล่าสุด : 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 02:39:02
ข้อมูลเมื่อ : 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 01:41:56