สาระธรรม
กิเลส รัก โลภ โกรธ หลง เป็นสมบัติของร่างกายนี้
รายละเอียด
กิเลส รัก โลภ โกรธ หลง เป็นสมบัติของร่างกายนี้ ทุกคนมีอยู่อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ เพียงแต่ว่าถ้าเราไม่ไปนึกคิดปรุงแต่ง กิเลสก็ไม่สามารถที่จะทำอันตรายแก่เราได้
กระผม/อาตมภาพเคยเปรียบเทียบมานักต่อนักแล้วว่า เหมือนกับเราลวกก๋วยเตี๋ยวใส่น้ำเปล่า ก็ไม่มีใครอยากที่จะกิน แต่เราเปลี่ยนจากน้ำเปล่าไปเป็นน้ำซุป มีการใส่หมูสับ ใส่ตังฉ่าย ใส่ต้นหอมสับ ใส่กุ้งแห้ง ใส่ถั่วลิสงป่น ใส่พริกป่น ใส่น้ำตาล ใส่น้ำปลา ใส่น้ำส้มสายชู ยิ่งปรุงก็ยิ่งอร่อย เมื่ออร่อยเรากินแล้วก็อยากกินอีก
ดังนั้น..ถ้าหากว่าเราไม่มีการปรุงแต่ง รัก โลภ โกรธ หลง ต่าง ๆ ก็ไม่มีรสชาติ เราเองก็จะเบื่อหน่าย ถอนจิตออกมาเองโดยอัตโนมัติ การที่เราจะไม่ปรุงแต่งก็คือ หยุดการคิดให้ได้ เพราะว่าคิดเมื่อไรก็ปรุงแต่งเมื่อนั้น
การที่เราจะหยุดความคิดได้ ในเบื้องต้นก็คือต้องอยู่กับปัจจุบัน เพราะว่าความคิดของเรานั้น ถ้าไม่ไปในอดีตก็จะไปในอนาคต ก็จะไปยึดติดห่วงหาอาลัยกับอดีต หรือไม่ก็จะไปยึดติดด้วยการฝันเฟื่องถึงอนาคต เราต้องอยู่กับปัจจุบันด้วยสติรู้ตัวสมบูรณ์พร้อม ก็จะสามารถหยุดการปรุงแต่งทั้งปวงลงได้
การที่เราจะมีสติ อยู่กับปัจจุบันตรงหน้าได้ ก็คือการที่เราเอาความรู้สึกทั้งหมดตามลมหายใจเข้าไป ตามลมหายใจออกมา ให้สภาพจิตอยู่แค่นี้ ก็จะไม่มีการปรุงแต่งไป รัก โลภ โกรธ หลง กิเลสทั้งหลายก็จะดับลงชั่วคราว ถ้าเราสามารถที่จะรักษากำลังใจให้ต่อเนื่องยาวนานไปได้ กิเลสไม่สามารถที่จะเกิดได้ ท้ายสุดก็จะหมดกำลัง ตายไปเอง เรียกว่าการบรรลุมรรคผลแบบเจโตวิมุติ คือใช้กำลังใจในการกดข่มกิเลสจนกระทั่งหลุดพ้นได้
หรือว่าท่านทั้งหลายพินิจพิจารณาว่า ร่างกายนี้ก็ดี รัก โลภ โกรธ หลง ทั้งหลายก็ดี ก่อทุกข์ก่อโทษให้เรามานานกัปกัลป์อนันตชาติแล้ว ถ้าหากว่าเราเกิดมามีร่างกายเช่นนี้อีก เราก็ประสบกับความทุกข์ยากลำบากเช่นนี้อีก ชาติแล้วชาติเล่าไม่รู้จักจบจักสิ้น เราควรที่จะพอ ควรที่จะเข็ดได้หรือยัง ?
ถ้าหากว่าเราพอแล้ว เราเข็ดแล้ว เราก็ไม่พึงปรารถนาการเกิดมามีร่างกายนี้อีก ไม่พึงปรารถนาการเกิดมาในโลกที่ทุกข์ยากเร่าร้อนเหล่านี้อีก เราก็ถอนกำลังใจของเราออกมาจากการยึดเกาะในร่างกายของตนเอง จากการยึดเกาะในร่างกายของคนอื่น จากการยึดเกาะในร่างกายของสัตว์อื่น จากการยึดเกาะในสรรพสิ่งทั้งปวง เราก็สามารถที่จะหลุดพ้นจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพานได้
ถ้าเป็นลักษณะนี้ เรียกว่าการบรรลุมรรคผลด้วยปัญญาวิมุติ ก็คือใช้ปัญญาพินิจพิจารณา จนสภาพจิตยอมรับซึ่งความเป็นจริงเหล่านั้น แล้วปล่อยการเกาะเกี่ยวยึดติดทั้งปวง ก็สามารถที่จะก้าวล่วงจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพานได้
.....................................
พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. วัดท่าขนุน
www.watthakhanun.com
ผู้แต่ง
พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
โดย : วัดท่าขนุน
ที่อยู่ : ต.ท่าขนุน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี
จำนวนเข้าดู : 118
ปรับปรุงล่าสุด : 19 กันยายน พ.ศ. 2567 20:38:59
ข้อมูลเมื่อ : 19 กันยายน พ.ศ. 2567 20:38:59
สาระธรรม 10 อันดับ
ถ้าหากเราปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ อยู่ไม่อดหรอก ธรรมะย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม
ข้อมูลเมื่อ : 03-09-2567
เปิดดู : 82