




สาระธรรม
การที่สภาพจิตจะได้รับการพักอย่างแท้จริง

รายละเอียด
การที่เราจะหยุดอยู่กับปัจจุบันนั้น สิ่งที่ดีที่สุดก็คืออยู่กับลมหายใจเข้าออกเฉพาะหน้า หายใจเข้า..ให้ความรู้สึกทั้งหมดของเราเกาะอยู่กับลมหายใจ ไหลเข้าไป ผ่านอก ลงไปสุดที่ท้อง หายใจออก..ให้ความรู้สึกทั้งหมดอยู่กับลมหายใจ ไหลออกจากท้อง ผ่านกึ่งกลางอก มาสุดที่ปลายจมูก
ให้ความรู้สึกทั้งหมดอยู่กับลมหายใจตรงนี้ อย่าเคลื่อนไปไหน ถ้าเผลอไปคิดเรื่องอื่นเมื่อใดก็ให้ดึงกลับมาตรงนี้ ถ้าอย่างนี้จะเป็นการหยุดในเบื้องต้น ทำให้สภาพจิตของเราได้หยุดพักเช่นเดียวกับร่างกาย
สมาธิทรงตัวสูงมากเท่าไร ความสงบนิ่งของจิตยิ่งมีมากเท่านั้น ก็แปลว่าเราได้หยุดพักมากเท่านั้น แต่ว่านี่เป็นการหยุดแค่ในสภาพความฟุ้งซ่านของจิตเท่านั้น ยังไม่สามารถที่จะเชื่อถือได้ เพราะว่าถ้าเผลอเมื่อไรก็จะฟุ้งอีก
เราต้องไปพิจารณาเห็นโทษว่า การที่ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายสัมผัส ใจครุ่นคิดนั้น สร้างทุกข์สร้างโทษให้แก่เราอย่างไร ตาเห็นรูป ถ้าหากว่าชอบใจก็อยากได้อยากมี ต้องดิ้นรนไขว่คว้าหามา เป็นการสร้างความทุกข์ให้แก่เรา ถ้าไม่ชอบใจก็จะขับไสไล่ส่ง ก็เป็นการสร้างความทุกข์ให้แก่เรา
หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายสัมผัสก็เช่นกัน ก็จะเลือกเอาสิ่งที่ชอบใจ และผลักไสไล่ส่งสิ่งที่ไม่ชอบใจ สิ่งที่เราชอบใจนั้นเป็นส่วนของราคะและโลภะด้วย ส่วนที่ไม่ชอบใจนั้นเป็นส่วนของโทสะ ก็แปลว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม ล้วนแต่สร้างทุกข์สร้างโทษให้แก่เราทั้งคู่
ดังนั้น..ทันทีที่ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายสัมผัสนั้น เราต้องหยุดให้ทัน อย่าให้เข้าไปสู่ใจ อย่าให้ใจนำไปนึกคิดปรุงแต่งได้ ถ้าเราหยุดไม่ทันก็จะสร้างทุกข์สร้างโทษ สร้างความเหน็ดเหนื่อยให้กับสภาพจิตใจของเรา เพราะปรุงแต่งไม่หยุด แต่ถ้าเรารู้เท่าทัน หยุดโดยไม่นึกคิดปรุงแต่งได้ สภาพจิตก็จะได้รับการพักอย่างแท้จริง
การที่เราจะหยุดไม่ให้นึกคิดปรุงแต่งได้นั้น เราจะต้องมีครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งศีล สมาธิ และปัญญา การที่เราควบคุม กาย วาจา ของเราให้อยู่ในกรอบของศีลได้ ก็แปลว่าสติของเราต้องมั่นคงอยู่ในระดับหนึ่ง ถ้าสติมั่นคงก็จะสร้างสมาธิให้เกิดขึ้น เมื่อสมาธิทรงตัวมั่นคงได้ระดับอัปปนาสมาธิอย่างน้อยปฐมฌานขึ้นไป ก็จะเป็นพื้นฐานในการสร้างปัญญาให้เกิด
เราก็ใช้กำลังของสมาธิและปัญญาที่เกิดขึ้นนั้น มาพิจารณาให้เห็นว่า การที่ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายสัมผัสนั้น ไม่ว่าจะชอบใจหรือไม่ชอบใจก็ตาม ล้วนแต่เป็นไปเพื่อทุกข์ทั้งสิ้น ชอบใจก็ต้องเหนื่อยยากดิ้นรนไปไขว่คว้าหามา ไม่ชอบใจก็ต้องผลักไสไล่ส่งออกไป สร้างความเหน็ดเหนื่อยแก่เราโดยไม่รู้จบ
ดังนั้น..ถ้าหากว่าเราสามารถที่จะหยุดอยู่กับปัจจุบัน การที่จะไปปรุงแต่งอีกก็จะหยุด ถ้าหากว่าเราหยุดคิดได้เมื่อไร หยุดการปรุงแต่งได้เมื่อไร ทุกอย่างก็จะหยุดหมด ดับหมด นิโรธคือการเข้าถึงความดับอย่างแท้จริง คือการดับทุกข์ ดับกิเลส ตัณหา อุปาทาน อกุศลกรรมทั้งปวง จะปรากฏขึ้นแก่เรา
บุคคลที่เข้าถึงตรงนี้ เราจะมีพระนิพพานเป็นที่พึ่ง เราจะมีพระนิพพานเป็นที่ไปในเบื้องหน้า จะไม่คิดดิ้นรนอยากได้ใคร่ดีต่อสิ่งใดอีก กระทำทุกอย่างเพียงเป็นไปตามหน้าที่เท่านั้น ดีก็ไม่ได้ใส่ใจ ชั่วก็พยายามละเว้น ถ้าอย่างนี้ท่านทั้งหลายก็มีสิทธิ์ที่จะหลุดพ้นก้าวเข้าสู่พระนิพพาน ซึ่งเป็นแดนอมตะ ปราศจากความทุกข์ทั้งปวงได้
พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
วันศุกร์ที่ ๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๔
ผู้แต่ง
พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
โดย : วัดท่าขนุน
ที่อยู่ : ต.ท่าขนุน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี
จำนวนเข้าดู : 25
ปรับปรุงล่าสุด : 8 กันยายน พ.ศ. 2566 12:38:27
ข้อมูลเมื่อ : 8 กันยายน พ.ศ. 2566 12:38:27
สาระธรรม 10 อันดับ
พระเจ้าอะเล็กซานเดอร์มหาราช จักรพรรดิผู้รุกรบชนะไปครึ่งค่อนโลก ก่อนจะสิ้นพระชนม์ได้โปรดให้ข้าราชบริพารเข้าเฝ้าโดยรับสั่งให้ทำพินัยกรรมเป็นปริศนาธรรม 3 ข้อ
โดย วัดวังสำเภาล่ม
ข้อมูลเมื่อ : 22-09-2566
เปิดดู : 14
คนที่มีบุญนั้น บุญย่อมคอยจ้องที่จะเข้าช่วยอยู่แล้ว
โดย วัดเขานางบวช
ข้อมูลเมื่อ : 22-09-2566
เปิดดู : 11
ให้มีสติอยู่ตลอดอย่าประมาท ความประมาทคือบ่อเกิดความหายนะ
โดย วัดเขาแสงสว่าง
ข้อมูลเมื่อ : 22-09-2566
เปิดดู : 14
คนที่จะฝึกอภิญญาได้สำเร็จ ต้องเป็นคนที่จริงจังสม่ำเสมอ
โดย วัดท่าขนุน
ข้อมูลเมื่อ : 19-09-2566
เปิดดู : 20