




สาระธรรม
พรหมวิหาร ๔

รายละเอียด
วันนี้จะขอกล่าวถึงกรรมฐานกองหนึ่ง ซึ่งควรอย่างยิ่งที่เราจะต้องกระทำ เพื่อทำให้สภาพจิตใจของเรานั้นประกอบไปด้วยความอ่อนโยน เยือกเย็น สามารถทรงอารมณ์กรรมฐานกองอื่น ๆ ได้ง่าย นั่นก็คือ พรหมวิหาร ๔
พรหมวิหาร ๔ นี่มีหลายชื่อ คำว่า พรหมวิหาร คือที่อยู่ของพรหมหรือของผู้ใหญ่ แปลว่า บุคคลที่เป็นใหญ่จะต้องประกอบไปด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นปกติอย่างหนึ่ง
อีกอย่างหนึ่งเรียกว่า สัพพัตถกกรรมฐาน เป็นกรรมฐานที่ประกอบไปด้วยสารพัดประโยชน์ หนุนเสริมในการปฏิบัติของเราในทุก ๆ ด้าน อีกชื่อหนึ่งเรียกว่า อารักขกรรมฐาน เป็นกรรมฐานที่ช่วยรักษาตนจากอันตรายต่าง ๆ ที่จะพึงมีพึงเกิด
ในเรื่องของพรหมวิหารนั้น ส่วนใหญ่แล้วเราเองมีความเข้าใจแต่ไม่ชัดเจน พรหมวิหารจะว่าไปแล้วเป็นกรรมฐาน ๔ กองด้วยกัน
กองแรก คือ เมตตาพรหมวิหาร มีความรักเขาเสมอด้วยตัวเรา ก็แปลว่าเราชอบอะไร เราก็ทำแบบนั้นกับคนอื่น เราไม่ชอบอะไร เราก็อย่าทำแบบนั้นกับคนอื่น
กรุณาพรหมวิหาร มีความสงสาร อยากให้คนอื่นเขาพ้นจากความทุกข์ความลำบากที่เป็นอยู่
มุทิตาพรหมวิหาร มีความยินดีเมื่อเห็นคนอื่นอยู่ดีมีสุข ไม่อิจฉาริษยาใคร และ
อุเบกขาพรหมวิหาร รู้จักปล่อยวางเมื่อเกินกำลัง ก็หมายความว่าเราจะรักจะสงสารขนาดไหน ถ้าช่วยไม่ไหวก็ต้องวางเฉยไว้ก่อน มีโอกาสแล้วเราค่อยช่วยเหลือใหม่
คราวนี้ในส่วนที่เราควรจะทำก็คือการแผ่เมตตา คือการส่งกำลังใจที่เต็มไปด้วยความหวังดี ปรารถนาดีต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย อยากจะให้เขาพ้นจากกองทุกข์ อยากจะให้เขาอยู่ดีมีสุข ใครที่มีความสุขอยู่แล้วก็ขอให้มีความสุขความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป
ถ้าหากว่าเรามีการแผ่เมตตาเป็นปกติ สภาพจิตของเราจะเยือกเย็นทรงตัว ศีลทุกข้อจะรักษาได้โดยง่าย กรรมฐานทุกกองก็จะไม่แห้งแล้ง มีความชุ่มชื่น กระปรี้กระเปร่า อยากจะปฏิบัติแบบไม่เบื่อไม่หน่าย เป็นต้น
คราวนี้การแผ่เมตตานั้น ถ้าหากว่าเรากำหนดกำลังใจคิดว่า เราหวังดีปรารถนาดีต่อผู้อื่นอย่างไร กำลังใจของเราก็ทรงตัวยาก และไม่สามารถที่จะแผ่ออกไปกว้างไกลอย่างที่ต้องการ ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องควบกับลมหายใจเข้าออก ก็คืออาศัยกำลังฌาณสมาบัติจากอานาปานสติในการแผ่เมตตา เพื่ออาศัยความกว้างไกล ไร้ขอบเขต ไม่มีประมาณของสมาธิที่จะเกิดขึ้น
ดังนั้น..ในการที่เรากำหนดภาวนาในแต่ละวัน เมื่ออารมณ์ใจทรงตัวเต็มที่แล้ว ก็ขอให้ทุกคนตั้งใจกำหนดแผ่เมตตา ถ้าเอาแบบที่อาตมาเคยสอนก็คือกำหนดภาพพระขึ้นมา ให้สว่างไสวที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ แล้วตั้งใจกำหนดให้รัศมีความสว่างนั้น แทนพระเมตตาคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่แผ่ออกไปสู่สรรพสัตว์ทั้งหลาย ทุกภพทุกภูมิทุกหมู่ทุกเหล่า บุคคลใดตกอยู่ในห้วงทุกข์ ขอให้พ้นจากกองทุกข์ บุคคลใดมีความสุข ขอให้มีความสุขความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป
แรก ๆ ก็กำหนดแผ่ออกมาแค่รอบตัวเรา ถ้าสมาธิทรงตัวมากก็แผ่กว้างไปทั้งห้องที่เราอยู่ ถ้ามีกำลังสูงกว่านั้นก็กว้างออกไปทั้งบ้าน กว้างออกไปทั้งหมู่บ้าน ทั้งตำบล ทั้งอำเภอ ทั้งจังหวัด ทั้งประเทศ ทั้งโลก เป็นต้น ถ้าแผ่เมตตาถึงที่สุด จะรู้สึกเหมือนตัวเราโตเต็มแผ่นดินแผ่นฟ้า โลกเราเป็นแค่วัสดุเล็ก ๆ ที่อยู่ภายใต้ร่างกายของเรา สามารถกำหนดจิตครอบคลุมให้ทั่วถึงได้โดยง่าย จักรวาลที่ประกอบไปด้วยดวงดาวต่าง ๆ นับไม่ถ้วน สามารถแผ่กำลังใจครอบคลุมให้ทั่วถึงได้โดยง่าย
ถ้าลักษณะอย่างนี้ก็แปลว่า ท่านสามารถใช้กำลังของพรหมวิหาร ประกอบกับอานาปานสติในการแผ่เมตตา ก็ขอให้กระทำทุกครั้งที่ภาวนาจนอารมณ์ใจทรงตัว
ถ้าอย่างหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต องค์ปรมาจารย์แห่งพระสายวัดป่า ท่านบอกว่าท่านกำหนดแผ่เมตตาใหญ่ ๆ วันหนึ่งอย่างน้อย ๓ ครั้ง แล้วแผ่เมตตาเล็ก ๆ น้อย ๆ อีกนับครั้งไม่ถ้วน เพราะเหตุนี้เอง กำลังใจของท่านจึงได้ทรงตัว เยือกเย็น สามารถกำหนดกองกรรมฐานต่าง ๆ ได้ง่าย
ดังนั้น..ในเรื่องของเมตตาพรหมวิหารจึงเป็นกรรมฐานที่ต้องแสวงหา ต้องกระทำให้ได้ เพราะว่าเป็นกรรมฐานสารพัดประโยชน์ มีแต่จะหนุนเสริมการปฏิบัติของเราให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป
ลำดับต่อไป ขอให้ทุกท่านตั้งใจภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา
พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านเติมบุญ
วันอาทิตย์ที่ ๖ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๒
ผู้แต่ง
พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
โดย : วัดท่าขนุน
ที่อยู่ : ต.ท่าขนุน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี
จำนวนเข้าดู : 69
ปรับปรุงล่าสุด : 23 มกราคม พ.ศ. 2566 19:47:34
ข้อมูลเมื่อ : 23 มกราคม พ.ศ. 2566 19:46:56
สาระธรรม 10 อันดับ
คนที่มีบุญนั้น บุญย่อมคอยจ้องที่จะเข้าช่วยอยู่แล้ว
โดย วัดเขานางบวช
ข้อมูลเมื่อ : 22-09-2566
เปิดดู : 1
ให้มีสติอยู่ตลอดอย่าประมาท ความประมาทคือบ่อเกิดความหายนะ
โดย วัดเขาแสงสว่าง
ข้อมูลเมื่อ : 22-09-2566
เปิดดู : 3
คนที่จะฝึกอภิญญาได้สำเร็จ ต้องเป็นคนที่จริงจังสม่ำเสมอ
โดย วัดท่าขนุน
ข้อมูลเมื่อ : 19-09-2566
เปิดดู : 13