เข้าสู่ระบบสมาชิก
สถิติสารสนเทศ
วัด
พระอารามหลวง ชั้นเอก ราชวรมหาวิหาร
1 วัด
พระอารามหลวง ชั้นเอก ราชวรวิหาร
0 วัด
พระอารามหลวง ชั้นเอก วรมหาวิหาร
0 วัด
พระอารามหลวง ชั้นโท ราชวรมหาวิหาร
0 วัด
พระอารามหลวง ชั้นโท ราชวรวิหาร
0 วัด
พระอารามหลวง ชั้นโท วรมหาวิหาร
0 วัด
พระอารามหลวง ชั้นโท วรวิหาร
0 วัด
พระอารามหลวง ชั้นตรี ราชวรวิหาร
0 วัด
พระอารามหลวง ชั้นตรี วรวิหาร
2 วัด
พระอารามหลวง ชั้นตรี สามัญ
9 วัด
วัดราษฎร์
1455 วัด
สำนักสงฆ์
83 วัด
ที่พักสงฆ์
72 วัด
วัดร้าง
2 วัด
วัดทั้งหมด
1624 วัด
 
ศาสนบุคคลไทย
พระภิกษุ
8348 รูป
สามเณร
302 รูป
แม่ชี
89 รูป
ศิษย์วัด
33 คน
บุคคลทั่วไปชาย
39 คน
บุคคลทั่วไปหญิง
52 คน
ทั้งหมด
8863 รูป/คน
 
ศาสนบุคคลต่างชาติ
พระภิกษุ
40 รูป
สามเณร
25 รูป
แม่ชี
1 รูป
ศิษย์วัด
3 คน
บุคคลทั่วไปชาย
0 คน
บุคคลทั่วไปหญิง
0 คน
ทั้งหมด
69 รูป/คน
 
สถิติสถานภาพพระภิกษุปัจจุบัน
พระบวชใหม่
7196 รูป
ลาสิกขา
34 รูป
มรณภาพ
10 รูป
 

วีดีโอพระพุทธศาสนา

เทวธรรมชาดก ชาดกว่าด้วย ธรรมของเทวดา

รายละเอียด

เทวธรรมชาดก: ว่าด้วยคุณธรรมของเทวดา

เทวธรรมชาดก

ชาดกว่าด้วยความเป็นผู้มีหิริโอตตัปปะ

สถานที่ตรัสชาดก

 เชตวันมหาวิหาร   นครสาวัตถี

 สาเหตุที่ตรัสชาดก

 

                ครั้งหนึ่งในสมัยพุทธกาล  มี  กุฎุมพี  ผู้หนึ่งเป็นคนเจ้าสำรวยรักสวยรักงาม และเห็นแก่ความสะดวกสบายจนน่าระอา  วันหนึ่งเขามีโอกาสได้ฟังพระพุทธโอวาทอันไพเราะจับใจ  ประกอบด้วยเหตุและผลลุ่มลึกไปตามลำดับ  บังเกิดความเลื่อมในศรัทธาเปี่ยมล้นใคร่จะสละเหย้าเรือนออกบวชเช่นเพื่อนบ้านบ้าง  แต่ติดขัดด้วยเรื่องครอบครัว  จนกระทั่งต่อมาไม่นานนัก  เมื่อภรรยาเสียชีวิตลงจึงได้ออกบวช  แต่โดยเหตุที่มีนิสัยเจ้าสำรวยมาแต่ต้น  ดังนั้นก่อนจะออกบวช  ได้จัดแจงให้ข้าทาสบริวารไปช่วยกันสร้าง  กุฏิ  หลังงามขนาดใหญ่  ใช้วัสดุก่อสร้างชั้นดีเตรียมไว้หลังหนึ่งที่เชตวันมหาวิหาร

       โดยวินัยพุทธบัญญัติแล้ว  ถ้าพระภิกษุรูปใดปรารถนาจะสร้างกุฏิอยู่เอง  จะต้องสร้างเป็นกุฏิขนาดเล็ก  มีขนาดกว้างยาวเท่าที่กำหนด   เพียงอาศัยอยู่ได้ลำพัง ๆ ก็พอแล้ว  ห้ามสร้างใหญ่โตเกินกว่านั้นเป็นอันขาด  แต่ถ้าต้องการกุฏิขนาดใหญ่กว่าที่กำหนดจะต้องหาเจ้าภาพมาสร้างให้  ห้ามสร้างเองโดยเด็ดขาด   เนื่องจากกุฏุมพีผู้นี้รู้พระวินัยอยู่บ้าง  จึงรีบสร้างกุฏิเตรียมไว้ก่อน  อีกทั้งยังสร้าง  โรงไฟ  และโรงครัวไว้เก็บตุนอาหารอีกด้วย  แม้เครื่องนุ่งห่ม เช่น สบง  จีวร  ฯลฯ  ก็จัดเตรียมไว้หลายชุด  เพื่อผลัดเปลี่ยนได้ตามใจชอบ   ดั้งนั้น  หลังจากบวชแล้ว  ท่านจึงมี  บริขาร  ต่าง ๆ สะสมไว้จนล้นกุฏิ  เท่านั้นไม่พอ  ยังเรียกคนรับใช้เก่ามาคอยติดตามปรนนิบัตินวดมือ  นวดเท้า  ประกอบอาหารให้ฉันตามใจชอบเช่นเดียวกับฆราวาสอีกด้วย

       วันหนึ่ง  ขณะที่ท่านกำลังสาละวนขนสบง  จีวร  สังฆาฏิ  เป็นสำรับ  ๆ  และเครื่องนุ่งห่มอื่น ๆ ที่มีอยู่มากมายเป็นกองพะเนินออกมาตากที่หลังกฏินั้น  เพื่อนพระภิกษุกลุ่มหนึ่งผ่านมาเห็นเข้าจึงกล่าวตำหนิว่า

     “พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า  ทรงมีพุทธานุญาตจำกัดให้พระภิกษุมีเพียงผ้าสามผืน  คือ สบง  จีวร  และสังฆาฏิ  ไว้ใช้นุ่งห่มเท่านั้น  เพื่อฝึกความเป็นผู้มักน้อย  แต่ท่านกลับมักมาก  สะสมบริขารไว้มากมายล้นเหลือ  ช่างไม่เป็นการสมควรเลย”  แล้วก็นำตัวพระภิกษุเจ้าสำรวยรูปนี้  ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า

      พระบรมศาสดา  ครั้นทรงซักถามได้ความตามเป็นจริงแล้วก็ทรงตำหนิซ้ำอีกว่า

    “ดูก่อน  ภิกษุ  ในศาสนาของเรานี้  ล้วนสรรเสริญคุณของความเป็นผู้มักน้อย  สันโดษ  รักสงบ  และการปรารภความเพียร เผาผลาญกิเลสให้สิ้นไปมิใช่หรือ  แล้วทำไมเธอจึงไม่เชื่อฟัง  กลับทำในสิ่งที่ไม่ควร  สะสมบริขารไว้มากมายถึงปานนี้”

      พระภิกษุเจ้าสำรวยได้ยินดังนั้น  แทนที่จะสำนึกผิด  กลับเกิดโทสะพลุ่งพล่านแสดงอาการฮึดฮัด  กล่าวประชดประชันพระพุทธองค์ขึ้นว่า

    “ถ้าเช่นนั้น  ต่อไปนี้  ข้าพระพุทธเจ้าจะบวชอยู่ในศาสนานี้โดยนุ่งแต่เพียงผ้าสบงผืนเดียวอย่างนี้เท่านั้น”    ว่าแล้ว  ก็สลัดจีวรที่ห่มทิ้งเสีย  ยืนเปลือยอกอยู่ท่ามกลางหมู่สงฆ์

    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็มิได้ทรงถือโทษ  กลับทรงพระกรุณาระลึกชาติหนหลังด้วยบุพเพนิวาสานุสติญาณ  ตรัสเตือนสติด้วยพระสุรเสียงอันกังวานนุ่มนวลว่า

     “ดูก่อน  ภิกษุ  เมื่อชาติปางก่อนโน้น  เธอเคยเกิดเป็นผีเสื้อน้ำต้องเสียเวลาท่องเที่ยวแสวงหา  เทวธรรม  คือ  หิริ  โอตตัปปะ  ด้วยความลำบากยากแค้นแสนสาหัสถึงสิบสองปีจึงพบ   บัดนี้เธอได้มาบวชอยู่ในพระศาสนาที่สอนให้มีเทวธรรมตั้งแต่ต้นแล้ว  แต่เธอกลับละทิ้งเทวธรรม  จะหาความละอายบาป  กลัวบาปแม้แต่น้อยมิได้ถึงกลับมายืนเปลือยอกประชดประชันเราเช่นนี้  สมควรแล้วหรือ”

    พระภิกษุรูปนั้นได้ฟังพระพุทธดำรัสอันไพเราะจับใจเปี่ยมล้นด้วยพระกรุณา  มิได้ทรงถือโทษแต่ประการใด  ก็ได้สติ  รีบหยิบจีวรขึ้นมาห่มใหม่  กราบถวายบังคมอยู่แทบพระยุคลบาท  ขอพระราชทานอภัยโทษ  แล้วนั่งอยู่ในที่อันควร

    ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลอาราธนาพระผู้มีพระภาคเจ้าให้ทรงเล่าเรื่องการแสวงหาเทวธรรมในอดีตชาติของพระภิกษุรูปนั้น  พระองค์จึงทรงแสดง  เทวธรรมชาดก  ดังนี้

 
เนื้อหาชาดก

   ในอดีตกาล  สมัยพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติ  ณ  กรุงพาราณสี  ในครั้งนั้น  พระอัครมเหสีทรงมีพระราชโอรสพระองค์แรกทรงพระนามว่า    มหิสสาสกุมาร    ครั้นมหิสาสกุมารทรงเจริญวัยพอวิ่งเล่นไปมาได้แล้ว  พระนางก็ทรงมีพระราชโอรสองค์ที่สองทรงพระนามว่า  จันทกุมาร  แต่พระนางสร้างสมบุญมาน้อย  จึงเสด็จสวรรคตตั้งแต่พระราชโอรสยังทรงพระเยาว์

   พระเจ้าพรหมทัตทรงมีมเหสีใหม่   และทรงโปรดปรานมากต่อมาเมื่อพระนางทรงมีพระราชโอรสองค์หนึ่ง  ทรงพระนามว่า  สุริยกุมาร   พระราชาทรงปลาบปลื้มพระทัยอย่างยิ่ง  ถึงกับออกพระโอษฐ์พระราชทานพรแก่พระราชโอรสองค์นี้ว่า   ถ้าพระมเหสีทรงปรารถนาจะขอสิ่งใดให้แก่พระราชโอรสพระองค์นี้  จะพระราชทานให้ตามประสงค์ทุกประการ  พระนางทรงน้อมรับด้วยความดีพระทัย  แต่ผัดไปขอรับพระราชทานพรในวันข้างหน้า

 พระมเหสีองค์ใหม่นี้มิได้ทรงตั้งอยู่ในราชธรรม  เมื่อสุริยกุมารเจริญวัยพอสมควร  พระนางก็กราบทูลพระเจ้าพรหมทัตทวงถึงเรื่องที่เคยพระราชทานพรให้แก่สุริยกุมารเมื่อแรกประสูติด้วยการทูลขอราชสมบัติกรุงพาราณสีให้แก่พระราชโอรสของพระนางเอง

  พระเจ้าพรหมทัตทรงตกพระทัย  นึกไม่ถึงว่าพระมเหสีจะขาดความเที่ยงธรรมถึงกับทูลขอเช่นนี้  แต่ก็มิอาจจะทำประการใดได้  ครั้นจะไม่ให้ก็เกรงเสียสัจจะ  ครั้นจะให้ก็กลัวเสียความยุติธรรมเพราะโดยพระราชประเพณีแล้ว  พระราชสมบัติควรตกแก่พระราชโอรสองค์ใหญ่  คือ  มหิสสาสกุมาร  พระองค์ทรงพยายามชี้แจงเหตุผลอันควรไม่ควรนานาประการแก่พระมเหสี  เพื่อให้ล้มเลิกความตั้งใจนั้นเสีย  แต่พระนางก็ยังทรงยืนกรานเฝ้าอ้อนวอนขอพระราชสมบัติแก่พระราชโอรสองค์เล็กอยู่เช่นเดิม

  เมื่อทรงตระหนักถึงพระอัธยาศัยที่อิจฉาริษยาของพระมเหสี  เช่นนี้  พระราชาทรงวิตกว่า  ถ้าไม่ยอมรับวาจาเสียแต่ต้น  พระนางอาจคิดปองร้ายต่อพระราชโอรสองค์พี่ทั้งสองเป็นแน่  จึงทรงตัดสินพระทัยหาทางออกโดยมีพระราชกระแสรับสั่งให้หาพระราชโอรสทั้งสอง  แล้วตรัสเล่าความหลังว่า

  “ลูกรักของพ่อ  เมื่อครั้งสุริยกุมารเกิด  พ่อพลั้งปากอนุญาตให้แม่ของเขาขอพรได้ตามปรารถนาบัดนี้  เขาก็มาทวงสัญญาขอราชสมบัติให้แก่ลูกของเขาแล้ว   ถ้าพ่อปฏิเสธก็จะเสียคำพูด  ผิดวิสัยกษัตริย์  ถ้าให้เจ้าทั้งสองก็จะเดือดร้อน  เพื่อตัดปัญหานี้  ขอให้เจ้าทั้งสองเห็นแก่พ่อซึ่งชราแล้ว    เข้าป่าไปแสวงหาพระอาจารย์ซึ่งรุ่งเรืองด้วยวิทยาคม  เพื่อศึกษาหาความรู้ให้เชี่ยวชาญเสียแต่บัดนี้  เมื่อพ่อตายแล้ว  จึงค่อยย้อนกลับมาครองราชสมบัติเถิด”

   พระราชโอรสทั้งสองทรงรับสนองพระบรมราชโองการแล้วกราบถวายบังคมลา  เสด็จออกจากพระบรมมหาราชวัง

  ขณะนั้น  สุริยกุมารกำลังสำราญพระอิริยาบทอยู่ที่พระลานหลวง  ครั้นทอดพระเนตรเห็นเจ้าพี่ทั้งสองทรงเครื่องรัดกุมเสด็จผ่านมา  ก็เข้าไปไต่ถาม  เมื่อทรงทราบความแล้ว  ก็ไม่ทรงเห็นด้วยกับพระราชมารดา  แต่ก็ไม่อาจจะทำประการใดได้ จึงทูลขอตามเสด็จไปด้วย

   ทั้งสามกุมารดั้นด้นเดินทาง    เข้าป่าหิมพานต์เพื่อแสวงหาพระอาจารย์ ระหว่างการเดินทาง  ก็ได้จัดแจงถากถาง  ปรับพื้นที่ปัดกวาดบริเวรร่มรื่นแห่งหนึ่งเพื่อสร้างที่พักอาศัย  ฝ่ายสุริยกุมารยังเด็กเกินกว่าจะช่วยทำงานได้ จึงถูกใช้ให้ไปหาน้ำดื่ม

   สุริยกุมารเดินไปได้สักพักหนึ่ง  ก็พบสระน้ำใหญ่ใสสะอาดด้วยความดีใจ  ไม่ทันจะพิจารณาก็ด่วนเดินลงไปตักน้ำในสระทันทีเนื่องจากสระน้ำแห่งนี้เป็นที่อยู่อาศัยของ  ผีเสื้อน้ำ  ตนหนึ่งซึ่งอยู่ในความปกครองของ   ท้าวเวสสุวรรณ   พระองค์ทรงมีพระกรุณาปรารถนาจะให้ผีเสื้อน้ำสำนึกบาป  จึงมีเทวบัญชาบังคับไว้ว่าห้ามออกไปจับสัตว์และคนกินนอกบริเวณสระน้ำนี้เป็นอันขาดแม้คนที่ลงมาในสระนี้  ถ้าเป็นผู้รู้เทวธรรม  ก็ห้ามทำอันตราย  ให้

ตั้งใจศึกษาเทวธรรมจากผู้นั้น  แล้วจึงจะพ้นเวร

   ดังนั้น  ทันทีที่สุริยกุมารก้าวลงไปในสระน้ำ  ก็ถูกผีเสื้อน้ำจับตัวไว้  แล้วซักถามว่า  รู้จักเทวธรรมหรือไม่  สุริยกุมารยังเด็กเกินไปที่จะรู้จักเทวธรรม  แต่ก็ไม่พรั่นพรึ่ง   ทรงตอบไปตามปฏิภาณของเด็กว่า

  “เทวธรรม  ก็คือ      พระจันทร์  และพระอาทิตย์”

   ผีเสื้อน้ำนั้นแม้ไม่รู้ว่า    เทวธรรมคืออะไรก็ตาม  แต่ก็พอจะสันนิษฐานได้ว่าไม่ใช่  จึงขังสุริยกุมารไว้ในวังใต้น้ำ  เพื่อเป็นอาหารมื้อต่อไปของตน

  ฝ่ายมหิสสาสกุมาร     ครั้นเห็นว่าน้องคนเล็กหายไปนานก็เป็นห่วง  ใช้ให้จันทกุมารไปตามหา   เมื่อจันทกุมารเดินตามรอยน้องชายไปถึงสระน้ำ  ก็ไม่ทันสังเกตอีกเช่นกัน  ทันทีที่ก้าวลงไปในน้ำจึงถูกผีเสื้อน้ำจับไว้  และซักถามเรื่องเทวธรรม  จันทกุมาร  เดาตอบไปว่า

   “เทวธรรม  ก็คือ  ทิศทั้งสี่นั้นเอง”   ผีเสื้อน้ำตรองแล้ว  รู้ว่าไม่ใช่  จึงจับไปขังรวมไว้กับสุริยกุมาร

   เมื่อจันทกุมารหายไปอีกคน  มหิสสาสกุมาก็นึกเฉลียวใจว่า  คงจะมีอันตรายอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นแก่น้องทั้งสองเป็นแน่  จึงเดินสะกดรอยตามไป  จนกระทั่งถึงสระน้ำ  ก็สังเกตเห็นรอยเท้าที่น้องทั้งสองเดินลงไปในสระน้ำนั้น  แต่ไม่มีรอยเท้ากลับขึ้นมาเลยก็แน่ใจว่า  ในสระน้ำนี้  จะต้องมีสัตว์ร้ายหรือผีเสื้อน้ำอาศัยอยู่อย่างแน่นอน    พระองค์ทรงกระชับพระขรรค์และถือธนูเตรียมพร้อมไว้แล้วสำรวจดูรอบ  ๆ ขอบสระอย่างระมัดระวัง  โดยไม่ยอมก้าวล่วงลงไปในสระน้ำเลย  ผีเสื้อน้ำคอยทีอยู่ในสระ  เมื่อเห็นว่า  มหิสสาสกุมารไม่ยอมลงไปในสระแน่แล้ว   จึงแปลงกายเป็นช่างก่อสร้างเดินเข้ามาหาแล้วแสร้งว่า   “ท่านคงเดินทางมาเหน็ดเหนื่อย  ทำไมไม่ลงไปดื่มน้ำอาบน้ำให้สบายเสียก่อนเล่า?”

   พระกุมารทรงเห็นช่างก่อสร้างนั้นแล้ว  ก็ทรงสันนิษฐานได้ทันทีว่า  คงจะเป็นผีเสื้อน้ำแปลงตัวมา  จึงตรัสถามตรง  ๆ ว่า  “เจ้าเป็นยักษ์ใช่ไหม    ทำไมจึงจับน้องทั้งสองของเราไป?” ผีเสื้อน้ำนั้น    ถึงแม้จะดุร้ายเหี้ยมโหด  แต่ก็รักษาคำสัตย์ไม่ยอมกล่าวเท็จ  รับสารภาพว่าได้จับสองกุมารนั้นไปจริง  เพราะเป็นอาหารของตน  และท้าวเวสสุวรรณก็ทรงประทานอนุญาตไว้  พระกุมารทรงนึกรู้ว่า  ผีเสื้อน้ำตนนี้ต้องไม่ใช่ยักษ์น้ำธรรมดา ๆ คงจะมีเงื่อนงำอะไรสักอย่างเป็นแน่  จึงตรัสถามว่า  “เจ้าจับมนุษย์กินได้ทุกคนหรือ?”  ผีเสื้อน้ำก็ตอบตามตรงว่า “เราจับกินได้ทุกคน  ยกเว้นแต่ผู้ที่รู้จักเทวธรรมเท่านั้น” พระกุมารจึงตรัสว่า   “ถ้าท่านอยากรู้เทวธรรม    เราจะอธิบายให้ฟัง   แต่การกล่าวถึงเทวธรรมนั้น  ต้องกล่าวด้วยความเคารพ  ถ้าผู้กล่าวยังมีร่างกายสกปรก  เปรอเปื้อน  ปากยังไม่ได้บ้วน  ที่นั่งยังไม่ได้ปูลาดไว้อย่างดี  และผู้ฟังยังนั่งสูงเสมอกับผู้กล่าว  แสดงว่าไม่เคารพในธรรมอย่างแท้จริง  ยังไม่สมควรจะแสดงเทวธรรม  ฉะนั้น  ถ้าเจ้าอยากจะฟัง  ก็จงรีบไปจัดหาน้ำมาให้เราชำระร่างกายให้สะอาดเสียก่อน  จัดที่นั่งให้สูงกว่าพื้น  และเจ้าจงนั่งพนมมือฟังด้วยความเคารพเถิด” ผีเสื้อน้ำได้ฟังดังนั้นก็ดีใจจนน้ำตาคลอ เพราะทนทุกข์ทรมานอยู่ในสระนี้เพื่อรอฟังเทวธรรมมานานถึงสิบสองปีแล้ว  จึงรีบกระวีกระวาดจัดหาให้ตามความประสงค์ของพระกุมารทุกประการ

  ครั้นพระกุมารประทับบนอาสนะแล้ว     กล่าวเป็นพระคาถาว่า“สัปบุรุษผู้สงบระงับ   ประกอบด้วยหิริ  และโอตตัปปะ  ตั้งมั่นอยู่ในธรรมอันผ่องแผ้ว  ท่านเรียกผู้นั้นว่า  เป็นผู้มีธรรมของเทวดาในโลก”

   แล้วอธิบายขยายความในพระคาถาว่า  “เทวธรรม  คือ  คุณธรรมสองประการด้วยกัน  ได้แก่     หิริ  และโอตตัปปะ  หิริ  คือ  ความละอายต่อบาป  โอตตัปปะ  คือ  ความเกรงกลัวต่อผลของบาป

  หิริ    มีเจตนาละอายต่อความชั่วสามประการด้วยกันคือ  คิดชั่ว  พูดชั่ว   และทำชั่ว  โดย  ปรารภตัวเอง  เป็นเหตุให้เกิดความละอาย
 
 โอตตัปปะ    มีลักษณะเป็นความกลัวภัยจากผลแห่งความชั่วที่จะเกิดตามมาภายหลัง  เช่น  กลัวตกนรก  กลัวคนติฉินนินทา  เป็นเรื่องของการ  ปรารภผู้อื่น    เป็นเหตุ  
 อุปมาดังว่า  มีเหล็กสองก้อน  ก้อนหนึ่งเป็นเหล็กเย็น  แต่เปื้อนอุจจาระ  เหล็กอีกก้อนหนึ่งเป็นเหล็กร้อนแดง  แต่ไม่เปื้อนอะไร  เหล็กเย็นไม่เป็นอันตรายแต่เป็นที่น่ารักเกียจ  ใคร  ๆ จึงไม่ยอมหยิบซึ่งเปรียบเสมือนหิริ   
เหล็กร้อน  ทำให้กลัวไม่กล้าแตะต้อง  เพราะกลัวอันตรายจากความร้อนนั้น  ซึ่งเปรียบเสมือนโอตตัปปะ

  สาเหตุที่จะทำให้บุคคลเกิดหิริ  โอตตัปปะขึ้นได้  มีอยุ่  4  ประการด้วยกัน  คือ

  1.เมื่อคำนึงถึง ชาติสกุล ของตนว่า ได้เกิดมาในสกุลที่ดีมีชื่อเสียง  ครั้นจะทำความชั่ว  ก็ละอาย  และจะถูกตำหนิติเตียนไปถึงบรรพบุรุษ  เสียชื่อเสียงวงศ์ตระกูล
 2.
เมื่อคำนึงถึง วัย คือคิดว่า  ตนเองก็อายุมากถึงเพียงนี้แล้วครั้นจะทำความชั่ว  ก็ละอาย  และ กลัวเด็จะลบหลู่ดูหมิ่นสิ้นความเคารพนับถือ
 3.
เมื่อคำนึงถึง ความสามารถ คือ  ความที่ตนเป็นผู้มีฝีมือ   มีความกล้าหาญ  ความเข้มแข็ง  ครั้น  จะต้องมาทำความชั่ว เช่นลักขโมย  หรือขอเขากิน  ฯลฯ  ก็นึกละอาย  กลัวเขาจะดูถูกดูหมิ่นว่าสิ้นไร้ ฝีมือ
4.
เมื่อคำนึงถึง ความเป็นพหูสูต คือ คิดถึงความที่ตนเองเป็นผุ้มีการศึกษา  นึกถึงคุณของครูบาอาจารย์ที่อุตสาห์เหน็ดเหนื่อยสั่งสอนอบรมมา  ครั้นจะต้องมาทำความชั่ว  เช่น ฉ้อโกงเขา  ฯลฯ ก็ นึกละอาย  และกลัวผู้อื่นติเตียน  เมื่อมหิสสาสกุมารได้อธิบายแจกแจงถึงความหมายของ  หิริ  โอตัปปะ  อย่างละเอียดชัดเจนโดยนัยต่าง ๆ แล้ว  ในที่สุดผีเสื้อน้ำก็เข้าใจซาบซึ้ง   เกิดความเลื่อมใสศรัทธา  ใคร่จะประพฤติธรรมตามที่ได้ฟังทุกประการ  แต่อย่างไรก็ตาม  ความเห็นแก่ตัวของผีเสื้อน้ำนั้นก็ยังไม่หมด  จึงกล่าวแก่มหิสสาสกุมารว่า  “เอาเถิด  เราเชื่อแล้วว่า  ท่านเป็นผู้รู้เทวธรรมจริง  เราอนุญาตให้ท่านดื่มและใช้น้ำในสระนี้ได้ตามใจชอบ  แต่จะคืนน้องให้ท่านได้เพียงคนเดียวเท่านั้น  เพราะเรายังต้องกินเนื้อมนุษย์เป็นอาหารอยู่  ท่านต้องการจะให้ปล่อยน้องคนไหนก็จงรีบบอกมา?” มหิสสาสกุมารตรัสสั่งให้คืนน้องชายคนเล็ก  ผีเสื้อน้ำได้ยิน ดังนั้น   จึงกล่าวโทษมหิสสาสกุมารทันทีว่า  “ท่านบัณฑิต  ท่านรู้จักเทวธรรมก็จริง  แต่ท่านไม่ประพฤติตนตามเทวธรรมเลย  ทำไมท่านจึงพูดออกมาได้ว่าให้ปล่อยน้อยชายคนเล็ก  แทนที่จะให้ปล่อยน้องคนโต  การกระทำเช่นนี้ได้ชื่อว่าไม่ให้เกียรติแก่ผู้มีอายุซึ่งมีคุณธรรมสูงกว่า” มหิสสาสกุมารจึงตรัสตอบว่า “ดูก่อน  ผีเสื้อน้ำ  เรารู้จักเทวธรรมและประพฤติเทวธรรมด้วย  การที่เราต้องเอาน้องคนเล็กกลับไป  ยอมทิ้งน้องคนกลางไว้ก็เพราะน้องคนเล็กไม่ได้เกิดร่วมมารดาเดียวกับเรา  และการที่เราต้องมาอยู่ในป่านี้ก็เพราะมารดาของน้องคนนี้ทูลขอราชสมบัติให้แก่เขา   พระราชบิดาของเราเกรงว่า  เราจะได้รับอันตรายจากพระมารดาเลี้ยง  จึงให้เรามาอยู่ป่า  แต่น้องคนเล็กกลับหนีมารดาตามเรามาด้วย  ถ้าเราไม่ได้ตัวเขากลับไป  ถึงเราจะพูดความจริงว่าน้องชายคนเล็กถูกยักษ์ในป่าจับกินเสียแล้ว  ก็คงไม่มีใครเชื่อเขาย่อมครหาว่า  เราสองคนพี่น้องร่วมมือกันฆ่าน้องชายคนเล็กเพื่อประโยชน์ในราชสมบัติ  เรากลัวคำครหา  จึงขอให้คืนน้องคนเล็กแก่เรา” ผีเสื้อน้ำได้ฟังดังนั้น   ก็มีความเลื่อมใสศรัทธาอย่างแท้จริง กล่าวสรรเสริญว่า  “ดีแล้ว  ดีแล้ว  ท่านบัณฑิต  ท่านเป็นผู้รู้จักเทวธรรมและประพฤติตามด้วยจริง  เราจะคืนน้องของท่านให้ทั้งสองคน”  เมื่อได้น้องชายคืนแล้ว  มหิสสาสกุมารก็เทศนาสั่งสอนผีเสื้อน้ำด้วยความกรุณาต่อไปว่า  “ดูก่อน  ผีเสื้อน้ำ ตัวท่านเกิดมากินเลือดกินเนื้อของผู้อื่นก็เพราะบาปที่สร้างไว้ตั้งแต่ชาติปางก่อน  เดี๋ยวนี้  ท่านก็ยังทำบาปอยู่ จงเลิกประพฤติเช่นนี้เถิด   มิฉะนั้น  ท่านจะไม่พ้นจากขุมนรกเป็นแน่”  จากนั้น  ทั้งสามพระกุมารก็อาศัยอยู่ในป่ากับผีเสื้อน้ำตนนั้น  จนกระทั่งวันหนึ่ง  มหิสสาสกุมารสังเกตเห็นดาวนักขัตฤกษ์มัวหมองก็ทราบว่า  พระราชบิดาเสด็จสวรรคตแล้ว  จึงพากันกลับเมืองพร้อมกับพาผีเสื้อน้ำตนนั้นไปด้วย  จัดที่อยู่และอาหารให้กินอย่างมนุษย์และให้บำเพ็ญศีลภาวนาไปจนตลอดชีวิต เมื่อมหิสสาสกุมารเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้ว ก็พระราชทานตำแหน่งมหาอุปราชให้แก่จันทกุมาร  และทรงแต่งตั้งสุริยกุมารเป็นเสนาบดี

 
ประชุมชาดก

                ครั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงชาดกจบลงแล้ว  ได้ทรงเทศนาอริยสัจ  4  โดยนัยต่าง ๆ ในที่สุด  พระภิกษุรูปนั้นก็ บรรลุ เป็นพระโสดาบัน  พระอริยเจ้าชั้นต้นในพระพุทธศาสนา  เที่ยงแท้  ว่าจะหมดกิเลสเด็ดขาดเป็นพระอรหันต์ในอีกไม่เกิน 7  ชาติเบื้องหน้าอย่างแน่นอน

 

                พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประชุมชาดกว่า

 

                ผีเสื้อน้ำในครั้งนั้น                              ได้มาเป็นพระภิกษุผู้มีบริขารมาก

                                                                   สุริยกุมาร                              ได้มาเป็นพระอานนท์

                                                                   จันทกุมาร                             ได้มาเป็นพระสารีบุตร

                                                                     มหิสสาสกุมาร                     ได้มาเป็นพระองค์เอง

 

ข้อคิดจากชาดก

โดย : วัดสระบัวก่ำ

ที่อยู่ : ต.หนองมะค่าโมง อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี

จำนวนเข้าดู : 708

ปรับปรุงล่าสุด : 7 มีนาคม พ.ศ. 2565 22:43:44

ข้อมูลเมื่อ : 7 มีนาคม พ.ศ. 2565 22:43:44

 
 
 
 

วีดีโอพระพุทธศาสนาล่าสุด 10 อันดับ

เพลงวัดท่าทอง

โดย วัดท่าทอง

ข้อมูลเมื่อ : 08-03-2567

เปิดดู : 22

รายการธรรมสุขใจ

โดย วัดศรีวนาราม

ข้อมูลเมื่อ : 30-01-2567

เปิดดู : 39

มาเที่ยววัดธรรมศาลากันไหม

โดย วัดธรรมศาลา

ข้อมูลเมื่อ : 12-01-2567

เปิดดู : 27

อำนวยพรปีใหม่ ๒๕๖๗

โดย วัดท่าขนุน

ข้อมูลเมื่อ : 01-01-2567

เปิดดู : 64